ชป.เร่งปรับปรุงแหล่งน้ำพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน
ชป. สั่งการโครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ รับมือ พายุฤดูร้อน ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พร้อมบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการกักเก็บน้ำ
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน(ชป.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน (1 มี.ค. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 41,542 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 17,612 ล้าน ลบ.ม. จนถึงขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 10,652 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 62 ของแผนฯ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,262 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯรวมกัน ปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 3,566 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 3,091 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 77 ของแผนฯ
จากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุฤดูร้อน บริเวณประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ในภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน โดยมีผลกระทบในช่วงวันที่ 1 – 4 มีนาคม 2564 นั้น ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ดังกล่าว เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมและสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมไปถึงให้ติดตามตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ หากเกิดฝนตกหนักหรือลมกระโชกแรงจนส่งผลกระทบต่ออาคารชลประทานและทรัพย์สินของทางราชการ จะต้องเข้าไปแก้ไขสถานการณ์โดยเร็ว รวมทั้งกำหนดเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อร่วมบูรณาการกับผู้ว่าราชการจังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแจ้งเตือนประชาชน ตลอดจนเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ รถแบคโฮ/รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ และเครื่องผลักดันน้ำ เป็นต้น เข้าไปประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันที นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้กำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การระบายน้ำทำได้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน เตรียมพร้อมรับมือจากพายุโซนร้อนดังกล่าว พร้อมกันนี้ ได้ให้ทุกโครงการชลประทาน วางแผนเก็บกักน้ำไว้ในช่วงฤดูฝนหน้าควบคู่กันไปด้วย ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และข้อสั่งการของ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน โดยเน้นย้ำให้ทุกโครงการเร่งดำเนินการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำให้แล้วเสร็จตามแผน และดำเนินการขุดลอกแหล่งน้ำต่างๆเพื่อเตรียมพร้อมรองรับน้ำฝนในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึงนี้ พร้อมทั้งขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องขอไปได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร 1460 สายด่วนกรมชลประทาน ได้ตลอดเวลา
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news