ค่า Ft คืออะไร ทำไมส่งผลต่อราคาค่าไฟฟ้า
ค่าไฟแพง ค่าไฟขึ้น เวลาเกิดเหตุการณ์แบบนี้เรามักจะเห็นคำว่า Ft มาด้วยเสมอ ค่านี้มันส่งผลยังไงต่อค่าไฟฟ้าแล้วมีปัจจัยอื่นๆ อีกไหมที่ทำให้ค่าไฟขึ้น
ค่า Ft คืออะไร?
Ft (ค่าเอฟที) ย่อมาจากคำว่า Float time หรือค่าไฟฟ้าผันแปร เป็นการลอยค่าของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ราคาเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นต้น ตามช่วงเวลาต่างๆ ที่ใช้เป็นกรอบในการคำนวณ
เมื่อค่านี้สูงขึ้นก็ส่งผลทำให้ค่าไฟของเราแพงขึ้นตามไปด้วย อย่างในเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ค่า Ft สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยอยู่ที่หน่วยละ 0.9343 บาท หรือ 93.43 สตางค์และเตรียมปรับขึ้นเป็น หน่วยละ 0.9827 บาท หรือ 98.27 สตางค์ในเดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2566
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ค่าไฟแพงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ค่าไฟฟ้าฐาน ,ค่าบริการรายเดือน ,ภาษี Vat 7% อีกปัจจัยที่มักพูดถึงคือการบริหารงานของรัฐบาล อย่างเรื่อง ปริมาณไฟสำรองล้นประเทศ มีการประเมินกันว่าประเทศไทยมีระบบกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองสูงราวๆ 35-50 เปอร์เซ็นต์(ค่ามาตรฐานควรสำรองไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์)
ถามว่ามันส่งผลต่อประชาชนยังไง?
มีการตั้งข้อสังเกตว่าประชาชนต้องเป็นผู้แบกรับภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าที่หน่วยงานรัฐจัดหาแม้ไม่ได้มีการใช้งาน
ตัวอย่างข้อมูลที่พรรคก้าวไกลเคยออกมาพูดก็เป็นตัวอย่างที่เห็นภาพได้ง่าย เมื่อรัฐบาลคาดการณ์ไฟฟ้าสูงเกินจริง-เลยมีการอนุมัติสร้างโรงไฟฟ้ามากเกินไป-โรงงานไฟฟ้ามีการทำสัญญาประกันรายได้ กล่าวคือแม้โรงงานผลิตไม่ได้ผลิตไฟฟ้าเลย ก็ยังได้รายได้เนื่องจากมีการประกันรายได้ไว้ แล้วค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็เป็นประชาชนที่ต้องแบกรับ
เรื่องค่าไฟฟ้าแพง เป็นเรื่องที่สำคัญต่อคนทุกคน เราทุกควรใส่ใจและช่วยกันมองหาสาเหตุและตั้งคำถามเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพวกเราทุกคน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews