ซาบรีนา เมิ่ง รองประธาน, ประธานหมุนเวียน และซีเอฟโอของหัวเว่ย ได้กล่าวปาฐกถาเปิดการประชุมสุดยอดนักวิเคราะห์ระดับโลก (Global Analyst Summit หรือ HAS) ประจำปีครั้งที่ 20 ที่เมืองเซินเจิ้นว่า การแปลงผ่านสู่ดิจิทัลเป็นน่านน้ำสีคราม (Blue Ocean) สำหรับทั้งอุตสาหกรรม หัวเว่ยจะเดินหน้าลงทุนในด้านต่าง ๆ เช่น การเชื่อมต่อ, การประมวลผล, การจัดเก็บข้อมูล และระบบคลาวด์
“เราตั้งเป้าที่จะมอบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลแก่ลูกค้าของเราซึ่งมีสถาปัตยกรรมที่เรียบง่ายที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ พร้อมคุณภาพสูงสุดเท่าที่เป็นไปได้ ซึ่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เป้าหมายของเราคือการช่วยให้องค์กรต่าง ๆ เปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลใน 4 ขั้นตอน ได้แก่ เปลี่ยนการดำเนินงานเป็นระบบดิจิทัล สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัล เปิดใช้ระบบอัจฉริยะที่ใช้แพลตฟอร์มเป็นฐาน และนำระบบอัจฉริยะมาใช้ ถึงเวลาแล้วที่จะเติบโตไปด้วยกันในอนาคตดิจิทัลโฉมใหม่ที่น่าตื่นเต้นนี้”
เมิ่งได้แชร์ 3 ประเด็นสำคัญจากประสบการณ์ด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลที่สั่งสมมาเกือบ 10 ปีของหัวเว่ย “ประการแรก กลยุทธ์เป็นสิ่งสำคัญ โดยพื้นฐานแล้ว การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเป็นการวางแผนเชิงกลยุทธ์และตัวเลือกเชิงกลยุทธ์ การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลที่ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์ ไม่ใช่เทคโนโลยี”
“ประการที่สอง ข้อมูลคือรากฐาน” เมิ่งกล่าวเสริม “ข้อมูลจะสร้างคุณค่าได้ก็ต่อเมื่อมันไหลเวียนไปทั่วองค์กร ดังนั้น การกำกับดูแลข้อมูลอย่างมีระเบียบแบบแผนจึงเป็นกุญแจสำคัญ การบูรณาการข้อมูลจากด้านต่าง ๆ จะยิ่งสร้างคุณค่ามากขึ้นไปอีก”
“ประการที่สาม ระบบอัจฉริยะคือเป้าหมายปลายทาง ข้อมูลกำลังกำหนดนิยามใหม่ของประสิทธิภาพการทำงาน การเปลี่ยนการดำเนินงานเป็นระบบดิจิทัลและการสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลจะช่วยสะสาง แสดงภาพ และรวบรวมข้อมูล ซึ่งวางรากฐานสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล การนำระบบอัจฉริยะมาใช้งานทำให้เข้าถึงข้อมูลได้แบบออนดีมานด์ เข้าใจได้ง่ายขึ้น และนำไปปฏิบัติได้จริง เป็นการยกระดับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลไปอีกขั้น”
ดร.โจว หง ประธานสถาบันวิจัยเชิงกลยุทธ์ของหัวเว่ย ได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาและบอกเล่าถึงสมมติฐานและวิสัยทัศน์ของหัวเว่ยสำหรับโลกอัจฉริยะในอนาคต และให้รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการที่จะสามารถเปลี่ยนประสบการณ์ให้เป็นความรู้ที่มีโครงสร้าง รวมถึงการวางรากฐานสำหรับระบบอัจฉริยะ
“การพิจารณาแนวทางสำหรับเครือข่ายและการประมวลผลใหม่นั้นเป็นสิ่งสำคัญขณะที่เราก้าวไปสู่โลกอัจฉริยะ” ดร.โจว กล่าว “ในแง่เครือข่าย เรามีความสามารถในการก้าวข้ามขีดจำกัดของทฤษฎีบทแชนนอน (Shannon’s theorems) เช่นเดียวกับการประยุกต์ทฤษฎีของเขา เพื่อผลักดันขีดความสามารถด้านเครือข่ายให้เพิ่มขึ้น 100 เท่าในทศวรรษหน้า ส่วนในด้านการประมวลผล เราจะก้าวไปสู่โมเดลใหม่ สถาปัตยกรรมใหม่ และส่วนประกอบใหม่ ตลอดจนพัฒนาขีดความสามารถของเราในการทำความเข้าใจและควบคุมระบบอัจฉริยะ นอกจากนี้ เรายังจะเดินหน้าสำรวจการใช้ AI สำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ และอื่น ๆ ต่อไป”
ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดนักวิเคราะห์ระดับโลก (Global Analyst Summit หรือ HAS) ประจำปีครั้งที่ 20 ที่เมืองเซินเจิ้น มีนักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรม, นักวิเคราะห์ทางการเงิน, ผู้มีอิทธิพลทางความคิด (KOL) และตัวแทนสื่อมวลชนจากทั่วโลกเข้าร่วมการประชุมกว่า 1,000 คน เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับสถานะของอุตสาหกรรม ICT รวมถึงกลยุทธ์การพัฒนา แผนงานสำหรับการพลิกโฉมทางดิจิทัล และแนวโน้มอุตสาหกรรมในอนาคต