“ปริญญา” เตือนพท.-กก.ไม่ควรแตกแยกเพราะแบ่งงาน
“ปริญญา” เตือนเพื่อไทย-ก้าวไกล ไม่ควรแตกแยกเพราะแบ่งงาน ประชาชนจะผิดหวัง แนะควรจะคุยกันให้ได้ ทางเลือกมีหลายทาง ระวังฝ่ายรัฐบาลเดิม ยังไม่ประกาศยอมแพ้
ผศ.ดร.ปริญญา เทวนานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยถึงการเลือกประธานรัฐสภา ซึ่งยังเป็นข้อถกเถียงระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลว่า เรื่องนี้เป็นการเจรจา ต้องเข้าใจ 2 ฝ่าย ตนเองไม่ได้พูดเชียร์พรรคใดพรรคหนึ่ง แต่รัฐบาลจากหีบบัตรเลือกตั้ง พรรคอันดับ 1 เป็นผู้ตั้งรัฐบาลโดยรวมพรรคอื่น จะแบ่งงานกันอย่างไรก็ควรตกลงกัน ไม่ควรแตกแยกเรื่องการแบ่งงาน เพราะประชาชนจะผิดหวัง ตนเองไม่ติดใจใครจะเป็นประธานสภาฯ แต่อย่าแตกกันเพราะเรื่องนี้
เหตุผลของพรรคเพื่อไทย คือ พรรคก้าวไกลได้หัวหน้าฝ่ายบริหารแล้ว จึงขอหัวหน้าฝ่ายนิติบัญญัติ อาจทำให้พรรคก้าวไกลไม่สบายใจ เพราะประธานสภาฯ จะทำหน้าที่ควบคุมการโหวตเลือนายกรัฐมนตรี แต่ถ้าหาก 2 พรรคนี้จับมือกัน และมี MOU เฉพาะเพื่อยืนยันว่าจะร่วมเป็นรัฐบาล และฝ่ายค้านด้วยกัน พรรคก้าวไกลอาจยอมให้พรรคเพื่อไทย แต่เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่สามารถพลิกได้ พรรคเพื่อไทยก็ควรเข้าใจพรรคก้าวไกล ทั้ง 2 พรรคควรหันหน้าเข้าหากัน เพื่อทำให้ความคลางแคลงใจน้อยลง โดยเฉพาะเมื่อเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คือ ชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตย ดังนั้น ประชาชนต่างคาดหวังว่า เขาต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงคือเจตนารมณ์ของประชาชน
หาก 2 พรรคคุยกันไม่ได้ ก็ควรจะคุยกันให้ได้ ทางเลือกมีหลายทาง คือพรรคเพื่อไทยยอมพรรคก้าวไกล พรรคก้าวไกลยอมพรรคเพื่อไทย แต่บนเงื่อนไขว่าเป็นรัฐบาล และฝ่ายค้านด้วยกัน หรือทางเลือกที่ 3 ให้พรรคอันดับอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะให้เอาแบบนี้ แต่หากพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลตกลงกันไม่ได้ ก็ควรมีทางเลือกใหม่ เช่น พรรคประชาชาติ มาเป็นอันดับ 3 ให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นประธานสภาฯ จะวิถีทางใดก็ได้เพื่อให้ประชาธิปไตยเดินหน้า เพราะนี่คือการชนะขาดจากฝ่ายค้านเดิมที่ได้ 313 เสียง กับฝ่ายรัฐบาลเดิม 2 พรรครวมกันแค่ 76 เสียง ดังนั้น ไม่ควรจะตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะแบ่งประธานสภาฯ กันไม่ได้
ทั้งนี้ ฝ่ายรัฐบาลเดิม ยังไม่ประกาศยอมแพ้ จะทำให้ฉากทัศน์ของการเมืองเป็นอย่างไรต่อไป ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ถ้าตนเองเป็นทีมฟุตบอลแล้วแพ้ก็ไม่จำเป็นต้องประกาศ เพราะแพ้ไปแล้ว สำคัญคือ พรรคที่แพ้มีผลต่อการตัดสินใจของ ส.ว. จึงอยากให้เราเข้าใจว่า มันคือกลไกที่ออกแบบมาให้ผู้ยึดอำนาจไปต่อได้ และบัดนี้ผู้ยึดอำนาจแพ้ไปแล้ว ซึ่งจะดีมากถ้าผู้ยึดอำนาจประกาศออกมาว่า “ให้ ส.ว.ฟรีโหวต ไม่ควบคุม แล้วแต่ ส.ว.จะฟังประชาชนหรือไม่” แต่การที่ไม่พูดออกมา อาจทำให้ประชาชนคิดว่าไม่จบ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews