Home
|
เศรษฐกิจ

สนค.พบการเติบโตศก.ไทยยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ

Featured Image
สนค.ศึกษาพบการเติบโตของศก.ไทยยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ สัดส่วนคนจนยังคงที่ 6-8% แนะรัฐ,เอกชน,ปชช.ร่วมมือแก้

 

 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการวิเคราะห์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย พบว่า ความเหลื่อมล้ำ ยังคงเป็นประเด็นท้าทายของประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 

มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP ปรับเพิ่มจาก 7.7 ล้านล้านบาท ในปี 2551 เป็น 10.2 ล้านล้านบาท ในปี 2563 แต่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยังคงมีอยู่ และเป็นปัญหาสั่งสมที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้สังคมและเศรษฐกิจไทยพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ขององค์การสหประชาชาติ อันเป็นความพยายามร่วมกันในการลดความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ

 

ทั้งนี้ หากพิจารณาสถานะความเหลื่อมล้ำของไทยในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา สัดส่วนของคนจนลดลงจากร้อยละ 65 ในปี 2531 เหลือเพียงร้อยละ 6.3 ในปี 2564 แต่หากมองเฉพาะช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2554-2564) พบว่า สัดส่วนคนจนมิได้ลดลงมากนัก แต่กลับคงตัวอยู่ที่ระดับร้อยละ 6-8 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

ภาคเกษตร ซึ่งครัวเรือนที่มีรายได้หลักจากเกษตรกรรมจำนวนกว่าร้อยละ 11 ยังอยู่ใต้เส้นความยากจน และหากเปรียบเทียบระหว่างประเทศในกลุ่มทวีปเอเชียด้วยกัน ไทยอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับประเทศในอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม แต่มีความเหลื่อมล้ำสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วในเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้

 

โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำของประเทศ พบว่า มีทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ โดยการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การขยายตัวของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม การใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงาน ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสามารถ เป็นได้ทั้งโอกาสสำหรับผู้ที่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ในขณะเดียวกันเป็นประเด็นท้าทายสำหรับกลุ่มที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยี และไม่สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

 

นอกจากนี้ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ปี 2562-2593 ทวีปเอเชียจะมีประชากรสูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมากที่สุดในโลก โดยประเทศไทย สัดส่วนผู้สูงวัยเฉลี่ยต่อประชากรทั้งประเทศในช่วงเวลาดังกล่าวเท่ากับร้อยละ 17.2 เป็นอันดับที่ 5 ของเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้รองจากเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน และมาเก๊า

 

ทั้งนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2564 ประเทศไทยมีผู้สูงวัยจำนวน 13.8 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 โดยคาดการณ์ว่าในปี 2583 สัดส่วนประชากรสูงวัยจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 31.3 ของประชากรทั้งประเทศ การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุยังหมายถึงสัดส่วนกำลังแรงงานเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุและเด็กจะลดลงซึ่งจะทำให้อัตราการพึ่งพิงประชากรวัยแรงงานเพิ่มสูงขึ้น

 

ขณะเดียวกัน การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากการระบาดของโควิด-19 ปัจจุบันไทยยังอยู่ในเส้นทางการฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถเติบโตได้ดีนับตั้งแต่เกิดการหดตัวในช่วงการระบาด กลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงและยาวนาน เช่น ผู้ค้ารายย่อยที่สูญเสียรายได้จากการปิดกิจการช่วงโควิด-19 กลุ่มที่ประกอบอาชีพรับจ้าง กลุ่มเปราะบาง เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ภาครัฐควรมีนโยบายช่วยเหลือให้กลุ่มดังกล่าวฟื้นตัวโดยเร็ว เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในระยะยาว

 

จากประเด็นความท้าทายข้างต้น หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ดังกล่าว โดยสนค. เห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้ดำเนินโครงการศึกษาการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ปี 2566 ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ที่ยังคงเป็นปัญหาของประเทศ และเพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube