Home
|
ข่าว

ภาคีนักกม.สิทธิมนุษยชนชู4พันธกิจ-ม็อบโดนแล้ว119คดี

Featured Image

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน , ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน , มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม , มูลนิธิผสานวัฒนธรรม , สมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ , สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม , โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) , มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม , มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ร่วมแถลงข่าว โดย น.ส.คอรีเยาะ มานุแช นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ประชาชนทุกคนสามารถแสดงและใช้สิทธิเสรีภาพได้ โดยรัฐจะต้องอำนวยความสะดวก แต่สิ่งที่เห็น ไม่เพียงแต่รัฐไม่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน แต่กลับใช้กฎหมายมาเป็นเครื่องมือในการปิดปาก เพื่อไม่ให้ประชาชนแสดงออกทางการเมือง ซึ่งเห็นได้จากการที่ประชาชนจำนวนมาก ถูกดำเนินคดี ทั้งนี้จากสถานการณ์ที่ผ่านมา ประชาชนยังคงถูกดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง และไม่มีท่าทีของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่จะยุติการคุกคามประชาชน จึงขอแจ้งว่ากลุ่มภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พร้อมที่จะดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่กระทำการละเมิดต่อประชาชน โดยใช้กลไกกฎหมายทุกช่องทาง เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำแหน่งไหน ก็จะต้องรับผิดชอบกับการกระทำที่เกิดขึ้น ด้าน น.ส.ณัฐธิดา ชูมาลัยวงค์ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวเพิ่มเติมถึงพันธกิจของกลุ่มภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ว่า เบื้องต้นมี 4 ประการ คือ เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนเพื่อตรวจสอบและควบคุม และปรามการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อสร้างความเข้าใจและเปิดโปงต่อสาธารณชน ให้ทราบถึงการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของรัฐ และเพื่อเรียกร้องให้กระบวนการยุติธรรม พิทักษ์สิทธิมนุษยชนของประชาชน   ศูนย์ทนายฯพบ ม็อบโดนแล้ว 119 คดี 220 คน ชี้เป็นสิ่งผิดปกติ  น.ส.เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวในงานแถลงข่าวภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ถึงภาพรวมสถานการณ์การดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมว่า กลุ่มภาคีฯ เป็นเหมือนศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กรณีที่รัฐดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมทางการเมือง ซึ่งจากการที่ได้รวบรวมข้อมูลตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 63 ถึงปัจจุบัน มีคดีทั้งหมด 119 คดี มีจำนวนคนที่ถูกดำเนินคดี 220 คน ซึ่งมีเยาวชน 7 คดี จำนวน 5 คน โดยเยาวชนทั้งหมดได้เข้าสู่กระบวนการแล้ว ส่วนตัวมองว่าเรื่องที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งผิดปกติที่รัฐดำเนินคดีกับเยาวชน ที่ออกมาเรียกร้องทางการเมือง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าการดำเนินคดีดังกล่าว ถูกใช้ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกประกาศจะใช้กฎหมายทุกมาตรา ในทางเดียวกันก็จะเห็นว่าเป็นการดำเนินคดีย้อนหลังทั้งหมดด้วย ทั้งนี้จากข้อมูล ณ ปัจจุบัน มีหมายจับออกมาทั้งหมด 83 หมายจับ จำแนกหลักๆเป็น แกนนำคณะราษฎร นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือแพนกวิน ที่ผ่านมาโดนทั้งหมด 29 คดี แบ่งเป็น ม.112 มี 7 คดี ถือเป็นคนที่ถูกดำเนินคดีมากที่สุด , นายอานนท์ นำภา โดนทั้งหมด 14 คดี , นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง โดนทั้งหมด 10 คดี , นายภาณุพงศ์ จาดนอด หรือไมค์ 12 คดี และนายชินวัตร จันทร์กระจ่าง โดนทั้งหมด 16 คดี ทั้งนี้ นายรัฐศักดิ์ อนันตริยกุล สมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.)ได้พูดย้ำถึงการดำเนินการของภาคีเพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนว่า ปัจจุบันการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ หลังจากที่เกิดการทำรัฐประหาร ได้เกิดกฎหมายที่ผิดแปลก คือการตรากฎหมายที่ยกเว้นความผิด ออกระเบียบซึ่งเอื้อประโยชน์กับผู้มีอำนาจ บังคับใช้กฎหมายที่เกินกว่าบทบัญญัติ และเกิดการแจ้งข้อกล่าวหากับนักศึกษาเกินกว่าที่จำเป็น รวมถึงการยกระเบียบขององค์กรให้มีอำนาจเกิดเลยกว่ารัฐธรรมนูญ การรวมตัวขอกลุ่มภาคีฯ เพื่อต่อต้านรัฐประหาร และเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่ยิ่งทำคดียิ่งเพิ่มขึ้น จึงต้องเรียกร้องต่อองค์กรต่างๆ ให้ทบทวนบทบาท ทบทวนบทบัญญัติของกฎหมาย โดยเฉพาะสื่อมวลชนประชาชน โดยเฉพาะสื่อมวลชนประชาชน ที่จะเป็นกำลังหลัก ที่จะทำให้เรื่องนี้ลุล่วง พวกเรากลุ่มภาคีฯ จะเรียกร้องและแสวงหา ให้ความเป็นมนุษย์มีความเท่าเทียมกัน และต้องร่วมมือกัน ในการที่จะแสดงพลังว่าจะไม่ยอม เพราะแผ่นดินนี้เป็นของประชาชน และประชาชนต้องเป็นใหญ่ อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ชุมนุม ไม่ได้เกรงกลัวในการถูกดำเนินคดีใน ม.112 แต่กลัววิธีการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่อาจจะมีการกลั่นแกล้ง ขณะที่ นางณัฐาศิริ เบิร์กแมน สำนักงานกฎหมาย NSP กล่าวถึงการดำเนินการฟ้องคดีโดยภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ว่า จากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐ กระทำการต่อกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการตรวจสอบพบว่า เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ได้ทำตามที่กฎหมายกำหนดหลายข้อ และได้กระทำอยู่บ่อยๆ และไม่มีการถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ 1 คดี ซึ่งย้อนไปในวันที่ 19-20 กันยายน มีการออกหมายเรียกผู้ชุมนุมทั้งหมด 17 คน ซึ่ง 2 คน ใน 17 คน ไม่ได้มีการสืบหาข้อเท็จจริงก่อนออกหมายเรียก ถ้าพนักงานสอบสวนได้สืบหาข้อเท็จจริงจะสามารถคัดกรองผู้ชุมนุมจริงได้ ซึ่งข้อเท็จจริงเจ้าหน้าที่มีเพียงคำแจ้งความจาก สน.ชนะสงคราม ว่ามีกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งผู้ที่ได้รับหมายเรียกทั้ง 2 คน ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว และได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่เจ้าของสำนวนไปแล้ว ซึ่งกระบวนการแบบนี้ที่เกิดขึ้น ผู้ที่ถูกกล่าวหา เป็นผู้ต้องหา และทำให้เสียประวัติ ดังนั้นเพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรม จึงต้องการตรวจสอบพนักงานสอบสวนในกรณีดังกล่าว และหากมีความผิดจริง เจ้าหน้าก็จะต้องถูกดำเนินคดีอาญาเหมือนกัน ในฐานะปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพราะไม่มีการกลั่นกรองคนที่กระทำผิดออกไปจากกระบวนการยุติธรรม จึงจะเดินทางไปยื่นฟ้องพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ที่ดำเนินคดีกับ 2 ผู้ต้องหา ที่ถูกกล่าวหาว่าเข้าร่วมชุมนุมในวันดังกล่าวด้วย ด้านนายอมรินทร์ สายจันทร์ ตัวแทนมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้าที่ได้มีการฟ้องต่อศาลเพ่ง ให้ตรวจสอบการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง โดยให้เพิกถอนและให้ชำระค่าเสียหาย แต่ถึงแม้การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงจะถูกยกเลิกไปแล้ว จึงอยากให้ศาลตรวจสอบ และเพิกถอนให้คำประกาศนั้นสิ้นผล และไม่สามารถบังคับใช้ได้

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube