กทม.เตรียมแผนบริหารจัดการน้ำ พร้อมรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำจากปรากฏการณ์เอลนีโญ
วันที่ 16 สิงหาคม 2566 นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมแผนบริหารจัดการน้ำของ กทม.เพื่อรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำจากอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญว่ากรุงเทพมหานคร ว่า สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานครได้ประสานความร่วมมือกรมชลประทานติดตามปริมาณเก็บกักน้ำ 4 เขื่อนหลักที่ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงร่วมประชุมหารือกับกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรต่าง ๆ รวมถึงมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภคและด้านการเกษตร
รวมถึงเฝ้าระวังการรุกของน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจัดเจ้าหน้าที่ตรวจวัดคุณภาพน้ำและเฝ้าระวังตรวจวัดคุณภาพน้ำ (ความเค็ม) ในแม่น้ำเจ้าพระยาสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จำนวน 9 จุด ดังนี้
(1) ท่าน้ำนนทบุรี (2) สะพานพระราม 7 (3) สะพานปิ่นเกล้า (4) สะพานพุทธยอดฟ้า (5) สะพานกรุงเทพ (6) สะพานพระราม 9 (7) วัดบางกระเจ้านอก (?? วัดบางนานอก และ (9) พระประแดง
พร้อมทั้งตรวจวัดค่าความเค็มสูงสุดของแต่ละวันเป็นประจำทุกวัน จำนวน 5 จุด ประกอบด้วย สถานีสูบน้ำคลองแจงร้อน สถานีสูบน้ำคลองดาวคะนอง สถานีสูบน้ำคลองบางกอกใหญ่ สถานีสูบน้ำเทเวศร์ และสถานีสูบน้ำคลองบางเขนใหม่ และคลองต่าง ๆ รวมถึงแผนการควบคุมเปิด – ปิดประตูระบายน้ำ ตามแนวริมเจ้าพระยาไม่ให้น้ำเค็มที่ค่าความเค็มเกินมาตรฐานไหลเข้ามาในคลอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร
ส่วนพื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ สำนักการระบายน้ำได้ประสานและติดตามการบริหารจัดการระบายน้ำจากแม่น้ำป่าสักลงสู่คลองระพีพัฒน์แยกใต้มาตามคลอง 13 ผ่านคลองแสนแสบ เข้าคลองลำปลาทิวผ่านมายังคลองประเวศบุรีรมย์พื้นที่เขตหนองจอก เพื่อลดผลกระทบการขาดแคลนน้ำในด้านเกษตรกรรม โดยการดำเนินการของ กทม.ในระยะเร่งด่วนได้ขุดลอกคลองสายรอง เพื่อผันน้ำจากคลองสายหลักเข้าสู่พื้นที่ต่าง ๆ ส่วนแผนในระยะยาว กทม.ได้ก่อสร้างทำนบกั้นน้ำ โดยทดน้ำ หรือเก็บกักน้ำไว้ในคูคลองช่วงก่อนที่จะหมดฤดูฝน เพื่อไว้ในช่วงฤดูแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่เขตหนองจอกที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพทำการเกษตรและมักจะประสบปัญหาความเดือดร้อนในช่วงฤดูแล้งเนื่องจากน้ำที่นำไปใช้ในการเกษตรมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ปัจจุบันการก่อสร้างทำนบกั้นน้ำในพื้นที่เขตหนองจอกได้ดำเนินการแล้วเสร็จทั้ง 17 แห่ง ประกอบด้วย คลองสิงโต คลองแตงโม คลองบึงเขมร คลองขุดใหม่ คลองบึงนายรุ่ง คลองหนึ่ง คลองลัดเกาะเลา คลองสอง คลองลำแขก คลองแม๊ะดำ คลองลำเกวียนหัก คลองแยกลำต้อยติ่ง คลองกระทุ่มล้มด้านเหนือ คลองลำชะล่า คลองกระทุ่มล้มด้านใต้ คลองลำตามีร้องไห้ และคลองลำต้อยติ่ง ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรประมาณ 48,000 ไร่ สามารถกักเก็บน้ำในพื้นที่ได้ประมาณ 1.8 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยปัจจุบัน มีปริมาตรน้ำเก็บกักประมาณ 0.9 ล้าน ลบ.ม.
นอกจากนั้น กทม.ยังได้นำน้ำที่ผ่านการบำบัดที่มีคุณภาพ หรือน้ำรียูส นำไปใช้รดน้ำต้นไม้ ล้างถนน ล้างตลาด ล้างเครื่องจักรภายในโรงงาน โดยหน่วยงาน หรือประชาชนที่สะดวกสามารถขอรับน้ำได้ที่โรงควบคุมคุณภาพน้ำสี่พระยา โรงควบคุมคุณภาพน้ำรัตนโกสินทร์ โรงควบคุมคุณภาพน้ำช่องนนทรี โรงควบคุมคุณภาพน้ำหนองแขม โรงควบคุมคุณภาพน้ำทุ่งครุ โรงควบคุมคุณภาพน้ำจตุจักร โรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง และศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อ
นอกจากนี้ นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานครกล่าวถึงการติดตามแนวโน้มสถานการณ์และเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในพื้นที่กรุงเทพฯ หลังจากพบผู้เสียชีวิตจากโรคฝีดาษลิงรายแรกของไทยว่า จากการตรวจสอบจำนวนผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในระบบเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา (Epinet) และระบบรายงานการเฝ้าระวัง (รง.506) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ช่วงเดือน ก.ค.66 พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง 46 คน มากกว่าเดือน มิ.ย.66 ที่พบผู้ป่วย 48 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 11 ส.ค.66) ขณะที่ กทม.มีรายงานผู้ป่วยรวม 136 ราย ในจำนวนนี้ เป็นชาย 133 คน และเป็นหญิง 3 คน เป็นคนไทย 117 ราย ชาวต่างชาติ 19 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย 121 คน และติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย ปัจจัยเสี่ยงหลักคือ การมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักที่เป็นผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง
ทั้งนี้ กทม.มีระบบเฝ้าระวังติดตามกลุ่มเสี่ยงเชิงรับ โดยตรวจจับการระบาดจากระบบรายงานโรคและลงสอบสวนโรคทุกเคส และการป้องกันเชิงรุกโดยร่วมกับสำนักงานเขตและองค์กรภาคประชาสังคม NGO ให้ความรู้สถานประกอบการสุขภาพประเภทสปา ซาวน่า และสถานที่ที่เป็นจุดเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ของกลุ่มชายรักชาย รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวดป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลและคลินิกต่าง ๆ โดยเฉพาะการให้บริการในคลินิกเฉพาะทาง เช่น คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนัง คลินิกรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี รวมถึงประชาสัมพันธ์มาตรการป้องกันโรคฝีดาษลิงควบคู่กับการดูแลสุขภาพอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการแพร่ระบาด
นอกจากนั้น ยังได้รณรงค์ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจลักษณะอาการของโรค รวมถึงขอให้ประชาชนสังเกตอาการและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคฝีดาษลิง โดยงดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า ไม่สัมผัสแนบเนื้อกับผู้ที่มีผื่น ตุ่ม หรือหนอง แนะนำให้ล้างมือบ่อย ๆ และไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น โดยเน้นย้ำแม้ว่ามีเพศสัมพันธ์โดยใช้ถุงยางอนามัยจะป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ แต่ไม่สามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ เนื่องจากสามารถติดเชื้อได้จากการสัมผัสแบบแนบชิดเนื้อ
สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถตรวจสอบอาการเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง ดังนี้ หากมีผื่น หรือตุ่มขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก ปาก หรือตามร่างกาย และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิด สัมผัสแนบชิด หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้สงสัยฝีดาษลิง หรือผู้ป่วยฝีดาษลิงให้สังเกตตนเองภายหลังสัมผัสผู้ป่วยภายใน 21 วัน หากมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ต่อมน้ำเหลืองโต มีผื่น หรือตุ่มน้ำ หรือตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ หรือทวารหนัก หรือบริเวณรอบ ๆ ตามมือ เท้า หน้าอก ใบหน้า หรือบริเวณปาก ให้รีบเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลทันที โดยแจ้งอาการและประวัติเสี่ยงประกอบการวินิจฉัย