Home
|
เศรษฐกิจ

สศช.เผย สังคมไทยQ2 หนี้ครัวเรือนยังสูง

Featured Image
สภาพัฒน์ รายงานไตรมาส 2 ปี 2566 จ้างงานดีขึ้นในภาคบริการ แต่หนี้ครัวเรือนยังสูง 90.6%

 

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. “รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2566” พบว่า สถานการณ์ด้านแรงงานมีการจ้างงานจำนวน 39.7 ล้านคน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.7 โดยส่วนใหญ่เป็นการขยายตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตรแล้ว โดยอยู่ในภาคบริการ โรงแรม ภัตตาคารร้านอาหาร ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่ภาคเกษตรสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยว ทำให้มีการจ้างงานน้อยลง ส่วนอัตราว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.06 ซึ่งถือได้ว่าอยู่ในระดับปกติ โดยการว่างงานส่วนหนึ่งเกิดจากแรงงานในระดับอุดมศึกษาเพิ่งสำเร็จการศึกษาและอยู่ในระหว่างการหางาน

 

สำหรับหนี้สินครัวเรือน ตัวเลขในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 3.6 คิดเป็นมูลค่าหนี้ 15.96 ลลบ. โดย มีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อยู่ที่ร้อยละ 90.6 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าเล็กน้อยแต่ยังถือว่าเป็นตัวเลขที่อยู่ในระดับสูง เนื่องจากมีการปรับหนี้ที่นำมาคำนวณใหม่โดยเพิ่มเติมในส่วนของหนี้ กยศ. สหกรณ์ หนี้เคหะ และพิโกไฟแนนซ์ มูลค่ารวมกว่า 7 แสนล้านบาท

 

อย่างไรก็ตามมูลค่าหนี้ที่สูงขึ้น ได้มีการพูดคุยในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการเร่งสะสางและปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ โดยยังคงต้องให้ความสำคัญในส่วนของหนี้บัตรเครดิตและหนี้รถยนต์

 

การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังในไตรมาส 2 ปี 2566 เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับสุขภาพของคนวัยทำงาน พบการเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน ภาวะเครียดและมีการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น อีกทั้ง วัยทำงานมีความเสี่ยงจะเป็นโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นร้อยละ 62.3

 

จากการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยด้วยโรคที่มากับฤดูฝน ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้เลือดออกที่เริ่มมีการระบาดมาตั้งแต่ไตรมาสหนึ่ง ปี 2566 ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยเด็กและวัยเรียนอายุ 5 – 14 ปี ขณะที่สถานการณ์สุขภาพจิต พบว่ามีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น โดยมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ สุขภาพของคนวัยทำงานที่พบการเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน ภาวะเครียดและการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น อีกทั้งคนวัยทำงานยังมีความเสี่ยงจะเป็นโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นชินโดรม ซึ่งเกิดจากการทำงานเป็นเวลานาน ๆ อย่างต่อเนื่อง

 

การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ในไตรมาสสอง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จำเป็นที่ต้องเฝ้าระวังปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่มักมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญ นอกจากนี้ยังพบการลักลอบนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่หนีภาษีมากขึ้น ทำให้ประชาชนและเยาวชนผู้บริโภคสามารถหาซื้อได้ง่าย

 

การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 โดยเป็นการบริโภคบุรี่ลดลงร้อยละ 0.1ขณะที่แอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 เนื่องจากในช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่มีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ ทำให้ประชาชนมีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อสังสรรค์มากขึ้น ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง คือ ความรุนแรงในครอบครัวจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 พบเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นจำนวน 2,347 ราย สูงสุดในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากการเมาสุรา และการเมาสุราร่วมกับการใช้ยาเสพติด รวมทั้ง ยังมีประเด็นเกี่ยวกับ การลักลอบนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่หนีภาษี โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าจากปีก่อน

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube