นายกฯเตรียมร่วมประชุมผู้นำความร่วมมือทางศก.
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS ) ครั้งที่ 9 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ร่วมกับผู้นำประเทศสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา เวียดนาม และเลขาธิการอาเซียน ในวันที่ 9 ธ.ค.63 ระหว่างเวลา 8.30 -10.00 น. โดยมีกัมพูชาเป็นเจ้าภาพการประชุมภายใต้หัวข้อ “หุ้นส่วนเพื่อความเชื่อมโยงและความยืดหยุ่น” (Partnership for Connectivity and Resilience) การประชุม ACMECS เป็นข้อริเริ่มของไทย จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีหารือเฉพาะของประเทศลุ่มน้ำโขงที่เป็นสมาชิกอาเซียน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาค ทั้งนี้ ACMECS ขับเคลื่อนโดยแผนแม่บทระยะ 5 ปี พ.ศ. 2562 – 2566 (ค.ศ. 2019 – 2023) ซึ่งได้รับการรับรองในการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 8 เมื่อปี 2561 ที่ไทยเป็นประธาน เป็นแผนแม่บทที่เน้นการส่งเสริมความร่วมมือใน 3 สาขาหลัก ได้แก่ การเสริมสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ (Seamless Connectivity), การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ (Synchronized ACMECS Economies) และการพัฒนาภูมิภาคในลักษณะยั่งยืนและมีนวัตกรรม (Smart and Sustainable ACMECS) นอกจากนี้ ไทยยังเป็นผู้เสนอให้ริเริ่มผลักดันประเด็นที่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้ ACMECS มีพลวัตและสามารถรับมือกับความท้าทายของโลก คือ การจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนา ACMECS และการมีปฏิสัมพันธ์กับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา โดยนายอนุชา กล่าวว่า กรอบการประชุม ACMECS จะสร้างผลประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนและ MSMEs ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาคในอนุภูมิภาค ลดอุปสรรคและเพิ่มพูนการค้า การขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างกัน นอกจากนี้ การประชุม ACMECS ยังช่วยยกระดับสถานะของไทยในเวทีระหว่างประเทศเรื่องการรับมือกับโควิด-19 สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นานาประเทศถึงขีดความสามารถในการรับมือกับวิกฤตสาธารณสุขในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งส่งเสริมศักยภาพในการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ประชาชนและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีความเข้มแข็งร่วมกัน โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีจะกล่าวถ้อยแถลงเพื่อสนับสนุนผู้นำทุกคนที่มีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อน ACMECS ให้ก้าวหน้า มีพลวัต และพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์และความท้าทายรูปแบบใหม่ ตลอดจนจะนำเสนอข้อเสนอของไทยในหลักการ “อนุภูมิภาค ที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้” (Safe, Secure and Trustworthy ACMECS) ให้เป็นอีกหนึ่งสาขาความร่วมมือภายใต้แผนแม่บท ACMECS ทั้งนี้คาดว่าในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมฯ จะรับรอง “ร่างปฏิญญาพนมเปญ” ด้วย