สื่อจีนเผยมุมมองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านมุมมองชาวต่างชาติ
หนังสือพิมพ์พีเพิลส์ เดลี (People’s Daily) เผยจีนได้อนุรักษ์ระบบนิเวศและการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งดึงดูดความสนใจจากทั่วโลก ชาวต่างชาติจำนวนมากที่พำนักอาศัย ทำงาน เรียนหนังสือ หรือมาเที่ยวประเทศจีน ได้บันทึกภาพทิวทัศน์รอบตัวผ่านเลนส์กล้อง ซึ่งภาพถ่ายเหล่านี้สะท้อนความสำเร็จในการอนุรักษ์ระบบนิเวศและการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของจีนได้อย่างชัดเจน
เทือกเขาสลับซับซ้อน ป่าไผ่ขนาดมหึมา ผืนน้ำที่ส่องประกาย เหล่านี้คือภาพถ่ายของหมู่บ้านจงจาง (Zhongzhang) ในอำเภออันจี (Anji) มณฑลเจ้อเจียง ทางตะวันออกของจีน ที่ถูกบันทึกไว้โดยคุณปีเตอร์ ริช (Peter Rich) ผู้ที่ได้รับรางวัลความสำเร็จสูงสุดสาขาความเป็นเลิศด้านสถาปัตยกรรมจากแอฟริกาใต้ โดยสะท้อนให้เห็นถึงความเงียบสงบและความงดงามของธรรมชาติ
คุณริชหลงใหลในทิวทัศน์อันงดงามตั้งแต่ครั้งแรกที่มาเยือนอำเภออันจี ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของหลักปรัชญาจีนที่ว่า “แหล่งน้ำที่ใสสะอาดและเทือกเขาอันเขียวชอุ่มเป็นสมบัติที่ประเมินค่ามิได้” โดยอำเภออันจีเชิดชูภูมิทัศน์อันเขียวขจีว่าเป็นทรัพย์สมบัติที่มีค่ามากที่สุด
“ทุกครั้งที่ผมมาที่อำเภออันจี ผมรู้สึกเบิกบานใจไปกับสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยา รู้สึกห่างไกลจากความวุ่นวายในเมือง และได้รับความสงบสุขจากภายใน” เขากล่าว
หมู่บ้านหลี่อ้าว (Li’ao) ที่ตั้งอยู่บนเชิงเขาทางตะวันออกของภูเขาซือหมิง (Siming Mountain) ในเมืองหนิงโป มณฑลเจ้อเจียง มีบ้านเรือนกว่า 300 หลังคาเรือนที่ติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา ซึ่งส่องแสงระยิบระยับใต้แสงแดดอยู่เสมอ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าวริเริ่มร่วมกันโดยบริษัทการไฟฟ้าเมืองหนิงโปในเครือบริษัทการไฟฟ้าแห่งประเทศจีน รัฐบาลท้องถิ่น และบริษัทเซลล์แสงอาทิตย์หลายแห่ง เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้ไฟฟ้าฟรีตามโควตาในแต่ละปี พร้อมทั้งสร้างรายได้เสริมจากการขายพลังงานส่วนเกินที่ผลิตได้
โรเจลิโอ (Rogelio) จากบราซิล ซึ่งอาศัยและทำงานในประเทศจีนมานานกว่าทศวรรษ บอกกับหนังสือพิมพ์พีเพิลส์ เดลี ว่า เขารู้สึกยินดีที่ได้เห็นความกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติผ่านภาพที่ถ่ายด้วยโดรนของเขา “ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ผมได้เห็นสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยารอบตัวผมดีขึ้นเรื่อย ๆ ทิวทัศน์สวยงามมากขึ้นเรื่อย ๆ และผมหวังว่าคนทั่วโลกจะมาเยือนจีนกันมากขึ้นเพื่อสัมผัสกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศด้วยตาตัวเอง”
นอกจากนั้นยังมีภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างทิวทัศน์ธรรมชาติกับสถาปัตยกรรมในเมืองวิทยาศาสตร์กว่างโจว (Guangzhou Science City) มณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของจีน โดยต้นไทรริมฝั่งแม่น้ำก่อให้เกิดร่มเงาอันร่มเย็น ภาพนี้ถ่ายโดยคุณปีเตอร์ เฮลิส (Peter Helis) ชาวเยอรมันที่ทำงานในเขตพัฒนากว่างโจว (Guangzhou Development Zone) ขณะกำลังวิ่งออกกำลังกายเลียบฝั่งแม่น้ำในเมืองในตอนเช้า