เมืองไท่โจวช่วยเสริมความยิ่งใหญ่ให้กับกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19
เมืองไท่โจวทางตอนกลางของมณฑลเจ้อเจียงเป็นจุดแวะพักที่สำคัญและโดดเด่นในการวิ่งคบเพลิงเอเชียนเกมส์หางโจว ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 เปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมาที่หางโจว เมืองเอกของมณฑลเจ้อเจียง
นับเป็นครั้งที่สามแล้วที่ประเทศจีนได้เป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาสุดยิ่งใหญ่ของเอเชียรายการนี้ หลังจากเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชียนเกมส์ปักกิ่งปี 1990 และเอเชียนเกมส์กว่างโจวปี 2010 และถือเป็นครั้งแรกที่เมืองในภาคตะวันออกของจีนได้เป็นเจ้าภาพ
การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์หางโจวพร้อมมอบประสบการณ์ที่น่าประทับใจ ทั้งทิวทัศน์งดงาม สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการ ตลอดจนบรรยากาศที่เปิดกว้าง กลมเกลียว และไม่แบ่งแยก นับเป็นคุณลักษณะเด่นของมณฑลเจ้อเจียง สะท้อนให้เห็นในเมืองไท่โจว ซึ่งเป็นเมืองชายฝั่งทะเลที่มีชื่อเสียงจากทิวทัศน์ทางธรรมชาติ ความสามารถด้านการผลิต และวัฒนธรรมเหอเหอ (Hehe Culture)
เมืองไท่โจวรายล้อมไปด้วยภูเขาและทะเล โดยเป็นที่ตั้งของจุดชมวิวระดับชาติ 5A ได้แก่ ภูเขาเทียนไท่ (Tiantai Mountain) พื้นที่ชมวิวเซินเซียนจู (Shenxianju) และเมืองโบราณไท่โจว
เมืองไท่โจวมีแนวชายฝั่งทอดยาว 651 กิโลเมตร และรายล้อมด้วยเกาะ 691 เกาะ พร้อมด้วยทิวทัศน์ของภูเขาและทะเล ตลอดจนหมู่บ้านอันสวยงามบนฝั่งใต้ของแม่น้ำแยงซี นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมที่มีองค์ประกอบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมตามแบบฉบับชายฝั่งตะวันออกของประเทศ
การวิ่งคบเพลิงเริ่มต้นจากสวนสาธารณะเหอเหอ (Hehe Park) ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมเหอเหอ อันเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมจีนโบราณที่ให้ความสำคัญกับความสามัคคี ทางสายกลาง ความเข้าใจซึ่งกันและกัน ความอดทนอดกลั้น ความเมตตากรุณา และการอยู่ร่วมกันกับความแตกต่าง
นอกจากนี้ วัฒนธรรมเหอเหอยังมีความสอดคล้องกับสปิริตของกีฬาโอลิมปิก นั่นคือ ความเข้าใจซึ่งกันและกันด้วยสปิริตแห่งมิตรภาพ ความสามัคคี และการเล่นกีฬาอย่างขาวสะอาด
เมืองไท่โจวมีความสำคัญในฐานะแหล่งกำเนิดและสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมเหอเหอ เรื่องราวของสองเทพเจ้าแห่งความสามัคคีจากภูเขาเทียนไท่และวัดกัวชิง (Guoqing Temple) ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เมืองไท่โจวได้จัดกิจกรรมมากมาย เช่น การประชุมโลกว่าด้วยวัฒนธรรมเหอเหอ (Hehe Culture Global Forum) เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และในช่วงปลายปีนี้ การประชุมโลกว่าด้วยวัฒนธรรมเหอเหอ ประจำปี 2566 จะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ด้วยมาตรฐานระดับสูง เพื่อส่งเสริมอิทธิพลของวัฒนธรรมเหอเหอในระดับโลก
การวิ่งคบเพลิงระยะทาง 8 กิโลเมตรผ่านสถานที่สำคัญหลายแห่งของเมืองไท่โจว รวมถึงย่านศูนย์กลางธุรกิจ จัตุรัสสาธารณะ ห้องสมุด ศูนย์วัฒนธรรม ศูนย์วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี พิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ วิทยาลัย และศูนย์กีฬา มีผู้ถือคบเพลิงมาร่วมวิ่งคบเพลิงรวมทั้งสิ้น 170 คน โดยผู้ที่อายุน้อยที่สุดคือ 14 ปี และอายุมากที่สุดคือ 67 ปี
ผู้ถือคบเพลิงมาจากหลากหลายสาขาอาชีพในเมืองไท่โจว เช่น แชมป์โลกกีฬาเรือใบ แชมป์พาราลิมปิก บุคคลผู้ทุ่มเทพัฒนาเกาะอันห่างไกลมานานกว่าสามทศวรรษ และบุคคลต้นแบบระดับชาติด้านการกุศล แสดงให้เห็นถึงความอุตสาหะ ความมุ่งมั่น และความมีชีวิตชีวาของชาวเมืองไท่โจว