มิเชลีน ฉี และไช รีเชฟ คว้ารางวัลอีตานไพรซ์ ประจำปี 2566
มูลนิธิอีตานไพรซ์ (Yidan Prize Foundation) ได้มอบรางวัลอีตานไพรซ์ ประจำปี 2566 (2023 Yidan Prize) แก่ศาสตราจารย์มิเชลีน ฉี ประจำมหาวิทยาลัยแอริโซนา สเตท และไช รีเชฟ อธิการบดีมหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี ออฟ เดอะ พีเพิล โดยยกย่องโซลูชันเชิงนวัตกรรมของทั้งสอง ซึ่งช่วยให้ผู้เรียนบรรลุศักยภาพสูงสุดของตนเอง ด้วยการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน และขจัดอุปสรรคในการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วโลก
รางวัลอีตานไพรซ์จัดขึ้นเป็นปีที่ 7 แล้วในปีนี้ โดยยกย่องผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในด้านการวิจัยและการพัฒนาการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเปิดรับการเสนอชื่อแบบเปิดกว้าง ประกอบกับกระบวนการตัดสินที่เข้มงวดและเป็นอิสระ
ในฐานะผู้ได้รับรางวัลอีตานไพรซ์ ประจำปี 2566 สาขาการวิจัยการศึกษา และรางวัลอีตานไพรซ์ ประจำปี 2566 สาขาการพัฒนาการศึกษาตามลำดับ มิเชลีน ฉี และไช รีเชฟ จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาระดับโลกของมูลนิธิอีตานไพรซ์ ทั้งสองยังจะได้รับรางวัลเหรียญทองพร้อมเงินรางวัลคนละ 30 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 3.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งครึ่งหนึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นเงินทุนสนับสนุนโครงการโดยไม่มีข้อจำกัด เพื่อสนับสนุนการขยายยกระดับงานของทั้งคู่
ดร.ชาร์ลส์ เฉิน อีตาน ผู้ก่อตั้งรางวัลอีตานไพรซ์ กล่าวว่า “เราขอแสดงความยินดีจากใจแก่ผู้ได้รับรางวัลอีตานไพรซ์ ประจำปี 2566 โดยเราขอยกย่องงานวิจัยและการปฏิบัติเชิงนวัตกรรมที่สร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งปลดล็อกโอกาสสำหรับผู้เรียน เพื่อช่วยสร้างโลกที่ดีกว่าด้วยการศึกษา”
มิเชลีน (มิคกี้) ฉี อาจารย์ตำแหน่งรีเจนต์ส โปรเฟสเซอร์ (Regents Professor) และโดโรธี เบรย์ เอ็นดาวด์ โปรเฟสเซอร์ (Dorothy Bray Endowed Professor) ด้านวิทยาศาสตร์และการสอน ประจำวิทยาลัยครู แมรี ลู ฟุลตัน (Mary Lou Fulton Teachers College) แห่งมหาวิทยาลัยแอริโซนา สเตท ได้รับรางวัลอีตานไพรซ์สาขาการวิจัยการศึกษา ประจำปี 2566 มิเชลีน ฉี เป็นนักวิชาการด้านประชานศาสตร์ โดยทฤษฎีความยึดมั่นผูกพันเชิงปัญญา (cognitive engagement) ของมิเชลีน ฉี ที่ได้รับการนำไปใช้อย่างแพร่หลายอย่าง ICAP ซึ่งย่อมาจากมุ่งเน้นปฏิสัมพันธ์ (Interactive) สร้างสรรค์ (Constructive) เชิงรุก (Active) เชิงรับ (Passive) ได้สร้างเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการกำหนดนิยามของการเรียนรู้แบบลงมือทำ (active learning) โดยมอบความเข้าใจที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นให้กับครูเกี่ยวกับวิธีการเรียนรู้ของนักเรียน ตลอดจนวิธีการออกแบบแผนบทเรียนและกิจกรรมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของนักเรียนให้ดียิ่งขึ้น
แอนเดรียส์ ชไลเชอร์ หัวหน้าคณะกรรมการผู้ตัดสินรางวัลอีตานไพรซ์สาขาการวิจัยการศึกษา และผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาและทักษะขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) กล่าวว่า “คุณูปการที่สำคัญที่สุดของมิเชลีนต่อการวิจัยด้านการศึกษา คือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับวิธีการเรียนรู้ของนักเรียน โดยได้จัดวางแนวทางการเรียนรู้แบบลงมือทำที่แตกต่างกันอย่างลึกซึ้งในหนึ่งกรอบคิดที่นำไปประยุกต์ใช้ได้จริง มิเชลีนทุ่มเทด้วยใจรักในการทำให้ทฤษฎีดังกล่าวนี้เปลี่ยนแปลงการปฏิบัติด้านการศึกษาในพื้นที่จริง”
สำหรับการใช้เงินทุนสนับสนุนโครงการจากรางวัลอีตานไพรซ์ มิคกี้ตั้งใจที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกรอบคิดดังกล่าว พร้อมสร้างหลักสูตรฝึกอบรมในการพัฒนานักวิชาชีพสำหรับครูระดับอนุบาลถึงมัธยมและหลังชั้นมัธยมศึกษา ตลอดจนขยายการเข้าถึงของ ICAP ในระดับโลก
ส่วนไช รีเชฟ อธิการบดีและผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี ออฟ เดอะ พีเพิล ได้รับรางวัลอีตานไพรซ์ ประจำปี 2566 สาขาการพัฒนาการศึกษา โมเดลอุดมศึกษาของเขา อันได้แก่มหาวิทยาลัยออนไลน์ในสหรัฐฯ ที่ไม่มีค่าเล่าเรียน ไม่แสวงกำไร และมีการรับรอง ซึ่งเข้าถึงนักศึกษากว่า 137,000 คนในทั่วโลกนั้น ตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนด้วยโซลูชันเชิงนวัตกรรมที่ขยายยกระดับได้