วิปรัฐบาล รอคำวินิจฉัยกลางศาลรัฐธรรมนูญก่อนตัดสินใจ ยันรัฐบาลไม่ได้ยื้อเวลาแน่นอน เพื่อไทยลั่นเดินหน้าโหวตร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ3
นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงแนวทางการพิจารณาร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ3 ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีการตีความกันไปหลายแบบ ซึ่งทราบว่าขณะนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ระหว่างการจัดทำวินิจฉัยกลางที่จะมีรายละเอียดของคำวินิจฉัย
โดยการประชุมวิปรัฐบาล วันนี้ จึงต้องรอคำวินิจฉัยกลาง เพราะเป็นเหมือนลายแทงนำทางว่า ควรดำเนินการอย่างไรเพื่อให้ถูกต้องตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งคาดว่าคำวินิจฉัยกลางจะแล้วเสร็จ ก่อนวันที่ 17 มีนาคม นี้ เพราะศาลฯก็ทราบดีถึงปัญหาและความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่ง หากคำวินิจฉัยกลางเสร็จสิ้นในวันนี้แต่ละพรรคการเมืองก็จะมีการนำกลับไปประชุมกัน เพื่อนำมาหารือร่วมกันอีกครั้งในเช้าวันที่ 17 มีนาคม
อย่างไรก็ตาม หากคำวินิจฉัยกลางไม่แล้วเสร็จทัน ก่อนวันที่ 17 มีนาคมนี้ ก็ยังมีทางออก ในกรณีเช่นครั้งที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ก็ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ผ่านไปได้ด้วยดี
พร้อมยืนยัน ว่า รัฐบาลไม่ได้ยื้อเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะได้ดำเนินตามขั้นตอนจะเห็นได้ว่า รัฐบาลก็พยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ เพียงแต่ขณะนี้ติดปัญหาอำนาจในการโหวตของสมาชิกรัฐสภาว่าจะสามารถทำได้แค่ไหน
เพื่อไทย ประกาศเดินหน้าโหวตร่างแก้ รธน.วาระ3 ย้ำ เป็นสิทธิของสมาชิกสภา สามารถทำได้ ชี้หากผ่านค่อยทำประชามติ
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี การโหวตในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ3 ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่ารัฐสภามีอำนาจหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้
พรรคเพื่อไทยจึงมีท่าทีและแนวทางต่อการดำเนินการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญดังนี้
1.ขอประกาศเดินหน้าโหวตวาระ 3 ในวันที่ 17 มีนาคม 2564 เพราะไม่ใช่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แต่แก้ไขเพียงมาตรา 256 มาตราเดียวจึงไม่ต้องทำประชามติก่อนแก้ไข แต่เมื่อผ่านวาระ 3 แล้ว จึงค่อยทำประชามติ การที่ประธานรัฐสภาสั่งให้เดินหน้าพิจารณาวาระ 3 ต่อไป เป็นสิทธิของสมาชิกรัฐสภาโดยชอบที่จะโหวตวาระ 3
2.คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยกให้ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ถ้าจะยินยอมให้ 84 ส.ว.ยกมือคว่ำรัฐธรรมนูญได้เท่ากับว่าอำนาจของคน 84 คน ในกระบวนการสืบทอดอำนาจที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน มีความหมายมากกว่าอำนาจของคน 65 ล้านคนจะยังเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยได้หรือ ตลอดระยะเวลา 7 ปี ของรัฐประหาร 2557 ประชาชนได้เห็นเครือข่ายองคาพยพในระบอบประยุทธ์ วางแผนสืบทอดอำนาจกันอย่างเป็นกระบวนการ ถึงเวลากระชากหน้ากากและเปิดโปงความพยายามในการแช่แข็งประเทศและสืบทอดอำนาจ
3.พรรคเพื่อไทย เห็นว่า “ได้เวลาประชาชน” ที่จะออกมายืนยันว่า อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจของประชาชน ถึงเวลา“เปลี่ยนรัฐธรรมนูญ พาประเทศพ้นวิกฤติ” จะทำการรณรงค์ เปิดเวทีสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อการสถาปนารัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยโดยประชาชนเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
ฝ่ายสืบทอดอำนาจ พยายามตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งที่สาระสำคัญคืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของประชาชน จึงควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ทำหน้าที่สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเพื่อประชาชนที่เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริง
“สุชาติ” มอง สามารถลงมติวาระ 3 ได้ ย้ำหากรัฐบาลไม่รับร่างจะต้องรับผิดชอบต่อประชาชน
ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่า จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญการลงมติวาระ 3 เพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภา ในวันที่ 17 มีนาคมนี้ จึงทำได้ ลงมติได้ เพราะเป็นอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญตามหมวด 15 ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่พูดถึงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนนี้ เป็นการแก้ไขโดยมีข้อจำกัดตามมาตรา 255
ทั้งนี้ หากรัฐบาลและวุฒิฯ ลงมติไม่รับร่างฯ ฉบับนี้ รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน เพราะร่างแก้ไขฯ ฉบับนี้ พรรครัฐบาลเป็นผู้เสนอแก้ไขเองและได้ผ่านวาระ 1 และวาระ 2 มาแล้วด้วย หากรัฐบาลลงมติไม่เห็นชอบ รัฐบาลก็ต้องไปทำประชามติถามประชาชนว่า “ประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่”
ซึ่งความจริงรัฐบาลและวุฒิฯ ควรรับร่างฯ ฉบับที่เสนอแก้ไขนี้ หากประชาชนลงประชามติให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ รัฐบาลก็ควรถามประชาชนด้วยว่า ในระหว่างยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 และกำลังร่างฯ ฉบับใหม่นี้ จะใช้ รัฐธรรมนูญฉบับใดในอดีตแทน เช่นจะใช้รัฐธรรมนูญ 2540 หรือไม่
สำหรับบางคน ที่ออกมาเรียกร้องแบบไม่มีข้อกฎหมายรองรับ เพียงพูดว่าลงมติวาระ 3 ทำไม่ได้ คนเหล่านี้ควรหยุดได้แล้ว เพราะดูไร้สาระ น่าละอาย การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นช่องทางสุดท้าย ที่จะสร้างความเป็นธรรมในสังคมและการพัฒนาประเทศอย่างสันติวิธี ดีกว่าปล่อยให้เหตุการณ์เป็นไปแบบในพม่า
“ปารีณา” ยื่นหนังสือถึง “ชวน” ให้ทบทวนเลื่อนพิจารณาร่างแก้ รธน. วาระ3 ออกไป
น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรีพรรคพลังประชารัฐ เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับหนังสือ โดย น.ส.ปารีณา กล่าวว่า เป็นการยื่นขอให้ทบทวนเลื่อนและถอนระเบียบวาระการโหวตวาระ 3 ในเรื่องการลงมติรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม
ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ฉะนั้นก็ควรจะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมมองว่าหากเดินหน้าก็อาจจะเป็นปัญหาเนื่องจากอาจจะมีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้นโดยตนเองจะร้องไปยัง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาหลายคนโดยเฉพาะฝ่ายค้านที่จะเดินหน้าโหวตวาระ 3 กันซึ่งเป็นการขัดขืนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ผิดกฎหมายและผิดจริยธรรมด้วย
ดังนั้น ตนไม่อยากให้รัฐสภาเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อประชาชนที่ศาลวินิจฉัยแล้วรัฐสภาก็นำมาตีความหมายเอง และเดินหน้าทำตามความต้องการ ของตนเองเป็นเรื่องที่ไม่ดี ส่วนหากจะมีการร้องเรียนตามมาตรา 157
หากรัฐสภาไม่พิจารณาโหวตวาระ 3 ก็ให้เป็นเรื่องของกระบวนการทางศาล แต่ส่วนตัวจะเคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดและจะดำเนินคดีกับทุกคนที่ขัดขืนคำวิจัย
ส่วนความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นนอกสภาหากไม่ดำเนินการโหวตวาระ 3 นั้น ก็เป็นเรื่องของคนที่ไม่เคารพศาลฯ ไม่เคารพบ้านเมือง ไม่เคารพระบบประชาธิปไตย การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเกิดขึ้นในรัฐสภาเท่านั้นและต้องทำอย่างถูกต้องจะทำตามใจการเมืองนอกสภาไม่ได้ ส่วนจะยื่นญัตติปากเปล่าในรัฐสภาหรือไม่นั้น ขอรอมติจากวิปรัฐบาลก่อน
ศาลรธน.เผยแพร่คำวินิจฉัยกลาง ด้าน “ธนาธร” ย้ำ สภาต้องโหวตวาระ 3 เพื่อเปิดโอกาสทำประชามติต่อไป ขณะ “คำนูญ” ชี้ไม่สามารถกระทำได้
ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำวินิจฉัยกลาง กรณีประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง( 2)
กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภา ตามธรรมนูญมาตรา 256 (1) โดยมีรายละเอียดทั้งหมด ดังนี้
คำวินิจฉัยกลาง กรณีหน้าที่และอำนาจของรัฐ (คลิกอ่าน)
“ธนาธร” ย้ำ สภาต้องโหวตวาระ 3 เพื่อเปิดโอกาสทำประชามติต่อไป
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวถึงแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ตนเชื่อว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็เปิดโอกาสให้ประชาชนทำประชามติ ซึ่งประชาชนก็ควรจะยืนยันในอำนาจของตนเอง ว่า อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน ผ่านการทำประชามติอีกครั้ง ซึ่งน่าจะเป็นไปได้
ส่วนรัฐสภาจะโหวตการแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 ได้หรือไม่ นายธนาธร ระบุว่า เรื่องวาระ 3 ต้องโหวตอยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องของสภา และก็ยืนยันว่าต้องมีการโหวตวาระ 3
นายธนาธร ระบุอีกว่า ตนมีความกังวลใจอย่างยิ่ง ถ้าการโหวตรัฐธรรมนูญ ไม่ผ่าน เราไม่เห็นว่าจะมีกฎกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อจะหาทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองให้ทุกคนได้อย่างไร และกระบวนการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถูกผลักออกไป ก็จะทำให้ประชาชนมีความรูสึกเดือดดาล ว่าการแก้ไข รธน. อย่างสันติในสภา เป็นไปไม่ได้ ซึ่งเราจะติดตามดูท่าทีของรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร
เมื่อถามว่าเห็นด้วยกับการทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ นายธนาธร กล่าวว่า สำหรับตนหากจะมีการทำประชามติอีกครั้ง ต้องมีการถามว่าจะต้องแก้ไขทั้งฉบับหรือไม่ ถ้าไปถึงตรงนั้น ก็ขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันแสดงออกครั้งนี้ให้ยิ่งใหญ่ ว่า ประชาชนต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง และต้องการเห็นประเทศไทยกลับมาเป็นประชาธิปไตย
ส่วนหากทำประชามติแล้ว ประชาชนไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะยอมรับหรือไม่นั้น นายธนาธร ระบุว่า ตรงนั้นค่อยว่ากันอีกที โดยต้องดูกฎเกณฑ์และกระบวนการจัดทำประชามติว่าเป็นธรรมหรือไม่ เอาเป็นว่าถ้าประเทศไทยกลับมาปกติอีกครั้ง ต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่แก้ไขกลไกในการสืบทอดอำนาจเท่านั้น ไม่มีทางอื่น ซึ่งต้องช่วยกันผลักดัน
ทั้งนี้ถ้ากฎเกณฑ์ประชามติเป็นธรรม จะยอมรับหรือไม่นั้น นายธนาธร ปฏิเสธตอบคำถาม โดยกล่าวเพียงสั้นๆว่า ถ้ากระบวนการ กฎเกณฑ์เป็นธรรมเท่านั้น
“คำนูญ” ชี้สภาไม่สามารถลงมติโหวตวาระ 3 ได้ ตามคำวินิจฉัยกลางระบุชัดให้แก้ไขเพิ่มเติม ไม่ต้องการให้แก้ไขทั้งฉบับ
นายคำนูญ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิ (ส.ว.) กล่าวถึงคำวินิจฉัยกลาง ของศาลรัฐธรรมนูญ(รธน.)ที่เป็นรายละเอียดของคำวินิจฉัยที่มีมติออกมาในกรณีที่รัฐสภามีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ว่า คำวินิจฉัยกลางถือว่ามีความชัดเจนมาก
โดยเฉพาะ 3 ย่อหน้าสุดท้าย ศาล รธน.บอกว่าหมวด 15 ของรัฐธรรมนูญ2560 ให้อำนาจให้แค่แก้ไขเพิ่มเติม ไม่ได้ต้องการให้แก้ไขทั้งฉบับ แต่การที่รัฐสภามีการแก้ไขมาตรา 256 และนำมาสู่การการงอกหมวด 15/1 ใหม่ ในวาระ 1-2 เป็นการนำไปสู่จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ย่อมเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 2560
ซึ่งหากรัฐสภาต้องทำเช่นนี้จำเป็นต้องถามประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญก่อนในขั้นตอนประชามติว่า เห็นควรให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ส่วนตัวจึงเห็นว่า การลงมติในวาระ 3 จึงไม่สามารถกระทำได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news