จีนจัดการประชุมวิชาการว่าด้วยความร่วมมือทางทะเลและสมุทราภิบาลโลก ประจำปี 2566
การประชุมวิชาการว่าด้วยความร่วมมือทางทะเลและสมุทราภิบาลโลก ประจำปี 2566 (The 2023 Symposium on Global Maritime Cooperation and Ocean Governance หรือ GMCOG) เตรียมเปิดฉากขึ้นที่เมืองซานย่า มณฑลไห่หนาน ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 8-9 พฤศจิกายน 2566
งานนี้ร่วมกันจัดโดยศูนย์วิจัยหัวหยางเพื่อความร่วมมือทางทะเลและสมุทราภิบาล (Huayang Center for Maritime Cooperation and Ocean Governance), มูลนิธิเพื่อการพัฒนามหาสมุทรของจีน (China Oceanic Development Foundation หรือ CODF) และสถาบันทะเลจีนใต้ศึกษาแห่งชาติ (National Institute for South China Sea Studies หรือ NISCSS)
การประชุมระยะเวลาสองวันประกอบด้วยการเสวนาใน 7 หัวข้อ ได้แก่ ความท้าทายด้านสมุทราภิบาลโลกและความร่วมมือทางทะเลระหว่างมหาอำนาจ, การสร้างความเชื่อมั่นร่วมกันในทะเลจีนใต้จากมุมมองของข้อริเริ่มด้านความมั่นคงระดับโลก, การวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสีน้ำเงิน, ระเบียบในทะเลจีนใต้ตามกฎหมายระหว่างประเทศ, เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติปี 2573 ข้อที่ 14 และการพัฒนาการประมงทางทะเลอย่างยั่งยืน, สนธิสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลในพื้นที่นอกเขตอำนาจรัฐและสมุทราภิบาลโลก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกและการวิจัยขั้วโลก
การประชุมวิชาการในปีนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมจากกว่า 20 ประเทศและภูมิภาค รวมถึงนักวิชาการที่มีชื่อเสียงจากสถานศึกษาที่ทรงอิทธิพล นักการทูต เจ้าหน้าที่จากองค์กรระหว่างประเทศ และหน่วยงานภาครัฐทั้งในและนอกภูมิภาค โดยวิทยากรหลักที่ยืนยันเข้าร่วมการประชุมแล้วประกอบด้วย นายหวัง อี้ สมาชิกกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน, นายซุน เว่ยตง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน, นายหวัง หง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และผู้ว่าการบริหารรัฐกิจด้านมหาสมุทรของจีน, นายปีเตอร์ ทอมสัน ผู้แทนพิเศษด้านมหาสมุทรของเลขาธิการสหประชาชาติ, นายหลิว เจิ้นหมิน อดีตรองเลขาธิการสหประชาชาติ และนายสตีเฟน เอ. ออร์ลินส์ ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยความสัมพันธ์สหรัฐอเมริกา-จีน ของสหรัฐอเมริกา
การประชุมวิชาการนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ในฐานะเวทีเสวนากระตุ้นความคิดสำหรับบรรดานักคิดที่มีภูมิหลังหลากหลายจากทั่วทุกมุมโลก ตลอดจนส่งเสริมการวิจัยทางวิชาการและการแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือทางทะเลและสมุทราภิบาล นอกจากนั้นยังเป็นกระบอกเสียงให้กับประเทศแถบชายฝั่งทะเลจีนใต้ในด้านความร่วมมือทางทะเลและสมุทราภิบาลโลก