“นิพนธ์”ขับเคลื่อนการแก้ไข ปัญหาสุขภาวะ เด็กแรกเกิด ถึง 5 ขวบชายแดนภาคใต้ ตามมติ กพต. ชู มหาดไทย เป็นเจ้าภาพหลักจัดการอย่างมีประสิทธิภาพเป็นรูปธรรม
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมหารือ แนวทางการขับเคลื่อนตามมติของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ในประเด็นการแก้ไข ปัญหาสุขภาวะ และโภชนาการต่ำของเด็กเล็ก ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จังหวัดสงขลา
ทั้งนี้ ตามมติในที่ประชุม กพต. เมื่อ 25 ก.พ.64 มีมติมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าภาพหลักในการประสานงานหรือหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และสำนักงบประมาณ เพื่อยกระดับคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้
สำหรับประเด็นการหารือในที่ประชุม ได้พูดถึงสถานการณ์ปัญหาด้านสุขภาพและโภชนาการต่ำของเด็กเล็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กำลังเป็นปัญหาอย่างมาก พร้อมทั้งการนำเสนอข้อมูลการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ครอบคลุมเด็กแรกเกิดถึง 5 ปี บริบูรณ์ ซึ่งในส่วนนี้ ท้องถิ่นจังหวัดนราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา, สงขลา และสตูล และพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา, สงขลา และสตูล เป็นผู้รับผิดชอบการสรุปประเด็นและนำเสนอ
มท.2 หวั่น พายุฤดูร้อนทำบ้านเรือนเสียหาย สั่งเร่งช่วยเหลือทันที หากเกิดสถานการณ์ ห่วงประชาชนไร้ที่อยู่-ขาดอาหาร กำชับท้องถิ่นสำรวจความแข็งแรงของป้ายโฆษณา
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะที่กำกับดูแลกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยถึงสถานการณ์พายุฤดูร้อนที่ส่งผลกระทบในช่วง 2-3 วันนี้ ว่า เตรียมรับมือสถานการณ์แล้ว โดยกองอํานวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ได้มีการติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
โดยประสานความร่วมมือไปยังศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตทุกเขต ให้บูรณาการความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชน ให้ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการ รวมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนได้ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่สิ่งก่อสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง รวมถึงระวังอันตรายจากฟ้าผ่า และในส่วนของพี่น้องประชาชนที่เป็นเกษตรกร ควรหาทางป้องกันผลิตผลทางการเกษตรที่อาจได้รับความเสียหาย และระมัดระวังอันตรายจากฟ้าผ่าอีกด้วย
ขณะเดียวกัน นายนิพนธ์ กล่าวว่า ในช่วงเดือนก.พ. ถึง พ.ค. ของทุกปีประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเป็นเกิดสถานการณ์พายุฤดูร้อนอยู่เป็นประจำ ความเสียหายมากน้อยขึ้นอยู่กับสภาพแต่ละพื้นที่ โดยเตรียมพร้อมทั้งเรื่อง การจัดเตรียมที่พักพิงชั่วคราว อาหารน้ำดื่ม ระบบสุขอนามัยต่างๆ เพื่อการบรรเทาทุกข์เบื้องต้น
ส่วนกรม ปภ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีการวิเคราะห์และประเมินปัจจัยสภาพความเสี่ยงในพื้นที่ เพื่อการประสานและบูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างป้ายโฆษณาต่างๆ ให้เข้าไปสำรวจความแข็งแรง เพราะอาจเกิดปัญหาเมื่อมีกระแสลมพายุที่รุนแรงได้ พร้อมทั้งการเตรียมพร้อมในเรื่องเครื่องมืออุปกรณ์และแผนเผชิญเหตุ โดยประการสำคัญยังคงเน้นย้ำในเรื่องของการแจ้งเตือนประชาชนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news