เตรียมตัวให้พร้อม ! เพราะกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เริ่มทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยเหลือ และแบ่งเบาภาระของผู้กู้ยืมที่อยู่ในระหว่างการชำระเงินคืน โดยให้เวลาผ่อนชำระสูงสุดถึง 15 ปี และให้ส่วนลดเบี้ยปรับ 100% ซึ่งถือเป็นการปลดภาระผู้ค้ำประกันหลังจากทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ และปรับเปลี่ยนลำดับการตัดชำระใหม่จากเดิม ทั้งเบี้ยปรับ ดอกเบี้ย เงินต้น ให้กลายเป็นการตัดเงินต้น ในส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ ซึ่งเปิดให้ผู้กู้ยืมเข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับกองทุนได้ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป
ปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. คืออะไร ?
สำหรับผู้ที่ยังไม่ทราบ การปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. นั้น เป็นการปรับลำดับการชำระหนี้ โดยตัดหนี้เงินต้นก่อน แล้วจึงจะนำไปตัดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ซึ่งจะทำให้ยอดหนี้ของลูกหนี้ กยศ.ลดลง ทั้งนี้ลูกหนี้ กยศ. ทุกรายจะได้รับสิทธิ์ประโยชน์ตามกฎหมายใหม่ เช่น การลดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% จากเดิม 18% และการปรับลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่ ส่วนกลุ่มเป้าหมาย เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ มีอะไรบ้าง มาตรวจดูไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ
กลุ่มเป้าหมายการปรับโครงสร้างหนี้ กยศ.
- กลุ่มก่อนฟ้องคดี
- กลุ่มที่บอกเลิกสัญญาแล้วแต่ยังไม่ฟ้องคดี
- กลุ่มที่ฟ้องคดีแล้วแต่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา
- กลุ่มที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วแต่ยังไม่บังคับคดีและได้บังคับคดีไปแล้ว
- กลุ่มอื่น ๆ ทั้งหมด
เงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ กยศ.
- ผู้กู้ยืมจะต้องผ่อนชำระเงินคืนกองทุนเป็นรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือน
- ผู้กู้ยืมต้องชำระภายในวันที่ 5 ของทุกเดือนให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี
- ในการชำระเงินงวดสุดท้าย ผู้กู้ยืมต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์
- การคำนวณยอดหนี้ที่จะนำมาปรับโครงสร้างหนี้ โดยรายละเอียดมีดังนี้
- กองทุนฯ จะนำรายการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมนับแต่วันที่ครบกำหนดชำระหนี้ครั้งแรกมาคำนวณใหม่ตามที่กฎหมายกำหนด
- ในกรณีคำนวณยอดหนี้ใหม่แล้วไม่มียอดหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยคงเหลือ กองทุนฯจะปรับโครงสร้างหนี้ให้ผู้กู้ยืมและให้ส่วนลดเบี้ยปรับ 100% โดยถือว่าผู้กู้ยืมได้ชำระหนี้ปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว
- สำหรับผู้กู้ยืมที่มียอดหนี้คงเหลือและอยู่ระหว่างการผ่อนชำระ กองทุนฯจะนำรายการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมเงินแต่ละรายนับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้ครั้งแรกมาคำนวณตัดชำระหนี้ใหม่ จากเดิมตัดเบี้ยปรับ ดอกเบี้ย และเงินต้น แต่เมื่อปรับโครงสร้างหนี้ใหม่จะตัดเงินต้น (เฉพาะส่วนที่ครบกำหนด) ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามลำดับ
- อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี และอัตราเบี้ยปรับ 0.5% ต่อปี
- ในส่วนของเบี้ยปรับทั้งหมด กองทุนฯจะพักแขวนไว้ เมื่อผู้กู้ได้ทำการชำระหนี้ปิดบัญชีจะได้รับส่วนลดเบี้ยปรับ 100%
- เมื่อทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้วผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากสัญญาค้ำประกันเงินกู้ทันที
- ในกรณีที่ผู้กู้ยืมผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้สะสมถึง 6 งวด หรือเมื่อผู้กู้ยืมมีงวดผ่อนชำระเหลือไม่ถึง 6 งวด หากผิดนัดชำระงวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด ให้ถือว่าสัญญาปรับโครงสร้างหนี้สิ้นสุดลงและให้ผู้กู้ยืมผูกพันรับผิดตามสัญญาเดิม กองทุนฯจะนำเบี้ยปรับที่ตั้งพักแขวนไว้กลับมาเป็นทุนทรัพย์เพื่อดำเนินการฟ้องร้องหรือบังคับคดีกับผู้กู้ยืมต่อไป
วิธีการลงทะเบียนปรับโครงสร้างหนี้ กยศ.
- ผู้กู้สามารถเข้าไปลงทะเบียนปรับโครงสร้างหนี้ได้ที่แอปพลิเคชัน กยศ.Connect หรือทางเว็บไซต์ www.studentloan.or.th
- เลือกวันและเวลาเพื่อนัดหมายทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้
- บันทึกหน้าจอผลการนัดหมาย และสามารถตรวจสอบการนัดหมายได้ที่ studentloan
สถานที่ทำสัญญาปรับโครสร้างหนี้ กยศ.
สำหรับผู้ที่เดินทางมายื่นการทำสัญญาเพื่อปรับโครสร้างหนี้ กยศ. สามารถทำสัญญาได้ที่
- กองทุนฯ อาคาร AIA Capital Center ชั้น 5 ที่อยู่ : เลขที่ 89 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
- กองทุนฯ อาคาร รุ่งโรจน์ ธนกุล ชั้น 10 ที่อยู่ : ถนนรัชดาภิเษก แขวงหวยขวาง กรุงเทพฯ 10310
เป็นอย่างไรบ้างกับการลงทะเบียนปรับโครงสร้างหนี้ มีโอกาสในการชำระหนี้ และขยายเวลาเพิ่มมากขึ้นแล้วใช่ไหม? สำหรับผู้ที่อยู่ต่างจังหวัด แล้วไม่สะดวกที่จะทำสัญญาที่กรุงเทพฯ คุณสามารถรอทางหน่วยงานประกาศอีกครั้งได้
ขอบคุณข้อมูลจาก กยศ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews