ศ.ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ นักวิจัยจากวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้คิดค้น”Cello-gum” (เซลโลกัม) ที่แปรรูปเศษวุ้นมะพร้าวเหลือทิ้งให้กลายเป็นสารเติมแต่งประสิทธิภาพสูงที่นำกลับมาใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ
เซลโลกัม คือผลิตภัณฑ์นาโนเซลลูโลสจากวุ้นมะพร้าว เป็นวัตถุดิบที่เหลือทิ้งเป็นขยะจากกระบวนการผลิต ซึ่งถูกดัดแปลงให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้เป็นสารเติมแต่งในอาหาร ยาและเครื่องสำอาง
โดยทีมวิจัยเชื่อว่าความสำเร็จครั้งนี้จะเป็นโมเดลให้กับการพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงเพิ่มมูลค่าเศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรเพื่อสังคม Zero Waste
วุ้นมะพร้าวหรือ Nata de Coco เป็นวัสดุธรรมชาติที่มีลักษณะโครงสร้างทางวิทยาศาสตร์เป็นแบคทีเรียเซลลูโลส (bacterial cellulose, BC) ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นหลายประการ ดังนั้น เมื่อนำมาใช้เป็นวัสดุผสมหรือสารเติมแต่งจึงช่วยให้สามารถเพิ่มคุณสมบัติอื่น ๆ
นอกจากวุ้นมะพร้าวแล้ว เศษวัสดุทางการเกษตรอื่น ๆ ก็นำมาใช้ทำเซลโลกัมได้เช่นกัน แม้จะให้เซลลูโลสในปริมาณที่น้อยกว่า โดย ศ.ดร.หทัยกานต์ กล่าวว่า วุ้นมะพร้าวให้เซลลูโลสมากกว่าเมื่อเทียบกับเซลลูโลสที่สกัดจากไม้หรือพืชอื่น ๆ เช่น ชานอ้อย หรือมันสำปะหลัง ซึ่งจะได้เซลลูโลสแค่ประมาณ 30% เท่านั้น แต่เราก็สามารถเอาชานอ้อย ข้าวโพด สับปะรด มาเข้ากระบวนการผลิตเป็นเซลโลกัมได้เหมือนกัน เพียงแต่อาจจะต้องมีการพลิกแพลงหรือเพิ่มเติมอีกนิดหน่อย
ปัจจุบัน เซลโลกัม อยู่ในช่วงของการหาผู้ร่วมทุนและความช่วยเหลือในด้านวิศวกรรม ทั้งเรื่องของการออกแบบเครื่องจักรและโรงงานเพื่อพัฒนากำลังการผลิตในรูปแบบของอุตสาหกรรมเต็มตัวในอนาคต พร้อม ๆ กับการทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากเซลโลกัมแล้ว ทีมวิจัยภายใต้การนำของ ศ.ดร.หทัยกานต์ ยังมีแผนที่จะพัฒนาแบคทีเรียเซลลูโลสเพื่อใช้เป็น binder ในอุตสาหกรรมการตอกยาเม็ด สารเติมแต่งในอาหารเสริม และ hydrogel ในเครื่องสำอาง