Home
|
ทั่วไป

รมว.วัฒนธรรม ห่วงโบราณสถานในพื้นที่น้ำท่วมภาคเหนือ

Featured Image

 

รมว.วัฒนธรรม  ห่วงเหตุน้ำท่วมขังโบราณสถานน่าน พะเยา มอบกรมศิลปากรติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด พร้อมตั้งศูนย์ประสานงาน

 

 

 

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้  ได้ติดตามผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยของโบราณสถานในพื้นที่ภาคเหนืออย่างใกล้ชิด ซึ่งในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้รายงานว่ามีสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด และกลุ่มพิธีการศพที่ได้รับพระราชทานในพื้นที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ ตั้งอยู่ ณ วัดสองแคว ต.ป่าแมต อ.เมืองแพร่ จ.แพร่ มีมวลน้ำมาเร็ว ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เร่งระดม เคลื่อนย้ายของ และเครื่องประกอบเกียรติยศประกอบศพโดยทันที  เพราะหากน้ำสูงกว่านี้สุ่มเสี่ยงต่อความเสียหาย ขณะนี้ได้มีข้าราชการ และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด

 

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ได้รับรายงานเกี่ยวกับผลกระทบต่อโบราณสถานในพื้นที่ 3 จังหวัด ดังนี้ จังหวัดน่าน จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.วัดหนองบัว อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ซึ่งมีโบราณสถานคือ วิหารที่ปรากฏภาพจิตรกรรมฝาผนังน้ำท่วมขึ้นถึงภายในวิหาร แต่ยังไม่ถึงภาพจิตรกรรมซึ่งสูงกว่าระดับน้ำท่วมประมาณ 50 ซม ดังนั้น ภาพจิตรกรรม จึงไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากน้ำท่วม 2.วัดภูมินทร์ อำเภอ เมือง จังหวัดน่าน โบราณสถานคือวิหารจตุรมุขที่ปรากฏภาพจิตรกรรมฝาผนัง (ปู่ม่านย่าม่าน) ปัจจุบันน้ำยังท่วมไม่ถึงด้านบนวิหาร เนื่องจากอาคารนี้เป็นอาคารที่มีฐานสูงและบันไดสูงไปถึงพื้นด้านบนวิหารน้ำจึงท่วมเพียงบันไดเท่านั้น และ 3.พิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ปัจจุบันน้ำยังไม่ท่วมเข้ามาในพื้นที่เนื่องจากตั้งอยู่ในบริเวณที่สูงที่สุดของเมืองน่าน เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอดเวลาและให้นำรถยนต์เข้ามาจอดภายในได้ในช่วงนี้เพื่อบรรเทาความเสียหายของทรัพย์สินประชาชน

 

ขณะที่ จังหวัดพระเยามีโบราณสถานที่ได้รับผลกระทบคือ เมืองโบราณเวียงลอ อำเภอจุน จังหวัดพะเยา เมืองนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำอิง น้ำจึงล้นฝั่งท่วมทั้งเมืองโบราณสถานจึงมีน้ำท่วมขังหลายแห่งแต่ไม่พบความเสียหายของตัวอาคาร ส่วนที่จังหวัดเชียงราย โบราณสถานที่ได้รับผลกระทบ คือวัดเสาหิน เป็น วิหารและเจดีย์ขนาดใหญ่มีน้ำท่วมขังในพื้นที่รอบอาคารแต่ยังไม่ได้รับรายงานความเสียหายของตัวอาคาร

 

 

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวอีกว่า กรมศิลปากร ได้วางแนวทางการแก้ไขปัญหา ดังนี้ 1.ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 2.รับฟังข้อมูลจากอาสาสมัครฯ ของกรมศิลปากรที่อยู่ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง 3.หลังจากน้ำลดให้เข้าพื้นที่สำรวจตรวจสอบสภาพและความเสียหายโดยด่วน โดยเฉพาะงานศิลปกรรมที่ได้รับความเสียหายต้องได้รับการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน 4.วางมาตรการลดความเสี่ยงของโบราณสถานในช่วงฤดูฝนนี้ หากมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องครั้งต่อไป เช่น ปกป้องน้ำไม่ให้ท่วมเข้าไปในอาคารโบราณสถานอีก หรืออื่น ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และ 5.หากพบความเสียหายต่ออาคารโบราณสถานให้รีบแจ้งกรมศิลปากรเพื่อดำเนินการฉุกเฉินเร่งด่วน

 

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมในส่วนกระทรวงวัฒนธรรม รู้สึกเป็นห่วงและขอเป็นกำลังใจให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกคน จึงได้ สั่งการให้จัดตั้งศูนย์ประสานงานโบราณสถานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย โดยใช้สายด่วนวัฒนธรรม 1765 ในการรับแจ้งข้อมูลและรวบรวมข้อมูลหน่วยงานในสังกัด สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด และกองพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน  รวมไปถึงแหล่งโบราณสถานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย เพื่อสรุปข้อมูลสำหรับลงพื้นที่สำรวจและตรวจสอบสภาพความเสียหายหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย รวมถึงจัดทำแผนช่วยเหลือเบื้องต้น และบูรณะซ่อมแซมในอนาคตต่อไป

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

 

 

 

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube