“ปิยบุตร”ล่าชื่อแก้รธน.ฉบับปชช.ใน6 ด.
ปิยบุตร ชี้รธน.60 คือกลไกค้ำยันระบอบประยุทธ์ ตั้งเป้าล่ารายชื่อร่างแก้ฉบับปชช.ภายใน6 เดือน
นาย ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ร่วมจัดกิจกรรมเข้าชื่อของประชาชน เสนอร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่เป็นความร่วมมือของ 4 องค์กรคือ “คณะก้าวหน้า-พรรคก้าวไกล-กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า-และไอลอว์” ในนามเรโซลูชัน รณรงค์การเช้าชื่อเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ที่ใช้การเข้าชื่อ 5 หมื่นคนในการเสนอแก้กฎหมายในรัฐสภา ภายใต้แคมเปญ “ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์”
โดยนายปิยบุตร กล่าวว่า เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้วางกลไกค้ำยันระบอบประยุทธ์เอาไว้ โดยพุ่งเป้าแก้ในประเด็นที่เห็นว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคคือ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) 250 คน อีกทั้งจำนวนการเข้าชื่อของประชาชนครั้งนี้จะสะท้อนเจตจำนงความต้องการแก้กฎหมายของประชาชน จะเป็นการกดดัน 250 ส.ว. ให้เปลี่ยนความคิด ซึ่งครั้งนี้จะต่างจากเดิมเป้าหมายทางการเมืองที่เปลี่ยนไป หลังจากที่ก่อนหน้านี้ร่างของไอลอว์เสนอร่างแก้กฎหมายแต่ถูกรัฐสภาตีตกไป
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวว่ารัฐธรรมนูญไทยต้องทำใหม่ทั้งฉบับ โดยเฉพาะหมวด 2 ที่ต้องปรับปรุงแก้ไข หลังถูกสื่อถามว่าไม่แตะหมวด1-2 เป็นการลดเพดานแนวร่วมในการต่อสู้กับระบอบประยุทธ์ แต่การแก้ครั้งนี้ย้ำการเสนอแก้ใน 4 ประเด็นใหญ่ ไม่ใช่หมายถึงไม่สนใจแก้หมวด 1-2 และยังอธิบายการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่ามี 3 ช่องทาง คือการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมและร่างใหม่, การตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) มายกร่างใหม่ แต่ถูกรัฐสภาตีตกไปแล้ว และการแก้แบบรายมาตรา และตั้งเป้า 6 เดือนในการเข้าชื่อประชาชน
พริษฐ์ เผยเป้าหมายหลักแก้รธน.ฉบับปชช. ยกเลิกส.ว., แก้ที่มาองค์กรอิสระ, ไม่เอายุทธศาสตร์ชาติ, ยกเลิกคำสั่งคสช.
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า กล่าวก่อนเข้าร่วมจัดกิจกรรมเข้าชื่อของประชาชน เสนอร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมภายใต้แคมเปญ “ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์” ว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีบทบัญญัติหลายมาตราที่ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย และกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ร่างแก้รัฐธรรมนูญที่มีการเสนอแก้ไขโดยประชาชนครั้งนี้ หลักๆมี 4 หมวด ประกอบด้วย
1.แก้ระบบรัฐสภา เศรษฐกิจปัญหาปากท้องประชาชนจึงต้องแก้รัฐธรรมนูญหลายประเด็น โดยยกเลิกหมวดรัฐสภา ยกเลิกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และให้เหลือสภาเดียว คือสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือเป็นความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ต้องแก้คุณสมบัติการได้มาซึ่งตุลาการศาลฯ
2.ต้องมีการแก้คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามองค์กรอิสระ ที่จะสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลกับองค์กรอิสระ
3.ต้องยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ อันมีที่มาจากผลพวงการรัฐประหารของ คสช. จึงขาดความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยที่จะบังคับใช้กับคนทั้งประเทศ แต่ควรให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้กำหนดการปฏิรูปประเทศ สุดท้าย
4.การยกเลิกมาตรา 279 ประกาศและคำสั่ง คสช. และการแก้มาตรา 256 กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ กำหนดเสียงเห็นชอบของ ส.ส.เป็น 2 ใน 3 หลังยกเลิก ส.ว.ไปแล้ว
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news