สธ.จับมือเครือข่ายเตรียมเตียงรับผู้ป่วยโควิด-19
สธ.เปิดสายด่วน 1668 ช่วยผู้ติดเชื้อหาเตียง จัดหา Hospitel รองรับเพิ่มอีก 1,000 เตียง และโรงพยาบาล 450 เตียง ภายในสัปดาห์นี้
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ว่า การบริหารจัดการเตียงในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีการดำเนินการร่วมกันภายใต้ 5 เครือข่าย ได้แก่ กรมการแพทย์, โรงเรียนแพทย์, กรุงเทพมหานคร, ตำรวจ-กลาโหม และโรงพยาบาลเอกชน โดยจัดทำข้อมูลเตียงผ่านระบบคอมพิวเตอร์ร่วมกัน ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลเอกชนในการรับผู้ติดเชื้อ ข้อมูล ณ วันที่ 8 เมษายน 2564 เครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน มีจำนวนเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโควิดอีกเกือบ 300 เตียง
แนวคิดการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้นโยบายว่า ผู้ติดเชื้อโควิดทุกรายควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาล และมีข้อตกลงกันในเครือข่ายว่า โรงพยาบาลที่ตรวจพบเชื้อโควิดต้องดำเนินการประสานในเครือข่าย เพื่อให้ผู้ป่วยทุกรายเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ดังนั้น ขอความร่วมมือโรงพยาบาลเอกชน หากตรวจพบเชื้อแล้วไม่มีเตียงรองรับ สามารถประสานส่งต่อในเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน หรือส่งต่อข้ามเครือข่ายได้ ซึ่งเป็นหลักการที่ตกลงกันมา 1 ปีแล้ว
ทั้งนี้ ในการจัดหาเตียงให้เพียงพอรองรับผู้ป่วย กรมการแพทย์และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ดำเนินการจัดหา Hospitel คือ ใช้ห้องพักโรงแรมทำเป็นโรงพยาบาล เพื่อดูแลผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ซึ่งขณะนี้จัดหาได้แล้ว 800 เตียง และจะหาเพิ่มเป็น 1,000 เตียง ภายใน 1-2 วันนี้ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติได้เตรียมเปิดโรงพยาบาลสนาม 450 เตียงในสัปดาห์นี้ เพื่อแก้ปัญหาไม่มีเตียง ทางสถาบันเพื่อการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ รับผู้ป่วยได้ทันทีวันนี้ 40 เตียง
นอกจากนี้ ยังได้เปิดบริการสายด่วนกรมการแพทย์ 1668 ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีเตียงรักษา อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนประเมินความเสี่ยงของตนเองก่อนเข้ารับการตรวจหาเชื้อ ที่เว็บไซต์ของโรงพยาบาลราชวิถี
สธ. เผย รัฐยินดีเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนร่วมจัดหา-บริการวัคซีนโควิด 19 แก่ประชาชน
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงประเด็นความร่วมมือในการจัดหาวัคซีนร่วมกับภาคเอกชน วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้หารือร่วมกับเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ถึงแนวทางการจัดหา-บริการวัคซีนโควิด 19 แก่ประชาชนเพิ่มเติม โดยมอบให้ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธานในการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ซึ่งภาคเอกชนได้แสดงเจตจำนงมีส่วนร่วมในการจัดหาวัคซีน โดยอาศัยว่าอาจมีความคล่องตัวมากกว่าภาครัฐ รวมทั้งยินดีทำตามแผนบริหารจัดการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการกระจายวัคซีนและบริการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ การร่วมดำเนินงานจะเป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้ ซึ่งทาง อย. ได้เปิดกว้างการขึ้นทะเบียนวัคซีนทุกชนิด ให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนส่งเอกสารเข้ามาพิจารณาเพื่อให้เกิดความมั่นใจในประสิทธิภาพและความปลอดภัย และการที่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมนับเป็นการช่วยสนับสนุนภาครัฐ และช่วยอำนวยความสะดวก เพิ่มช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนมากขึ้นโดยช่วงเวลาที่มีความเป็นไปได้ที่ภาคเอกชนจะจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมได้นั้น น่าจะเป็นช่วงที่วัคซีนมีมากขึ้นหลังเดือนมิถุนายน 2564
นพ.นคร กล่าวต่อว่า การจัดหาวัคซีนภาครัฐโดยกรมควบคุมโรคและสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ดำเนินการได้เป็นอย่างดีสามารถจัดหาได้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขมีศักยภาพในการจัดบริการวัคซีน มีโรงพยาบาลของภาครัฐกว่า 1,000 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอีกประมาณ 10,000 แห่งการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส เป็นอีกปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญ วัคซีนที่มีอยู่ยังสามารถใช้ป้องกันโรคและอาการป่วยรุนแรงได้ แต่ไม่สามารถคาดการณ์ในอนาคต สิ่งสำคัญที่จะเอาชนะไวรัสกลายพันธุ์ได้ คือการกระจายวัคซีนออกไปให้ครอบคลุมประชาชนมารับการฉีดวัคซีนอย่างครบถ้วนในระยะเวลารวดเร็ว ป้องกันไม่ให้ระบาดใหญ่ขอย้ำว่ากรมควบคุมโรคและสถาบันวัคซีนแห่งชาติ สามารถจัดหาวัคซีนเพียงพอสำหรับประชาชนคนไทย การที่เอกชนมีเจตนาในการเข้ามาเสริมการทำงานก็ยินดีเพื่อเดินหน้าต่อสู้กับโควิดด้วยกันต่อไป
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news