“แคน-อติรุจ” ดึงสติประชาชน ในภาวะวิกฤติโรคระบาดใช้วิจารณญาณในการรับข่าวสาร เช็คให้ชัวร์ก่อนแชร์
จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่กำลังระบาดหนักอีกระลอกในตอนนี้ เรียกได้ว่าสั่นสะเทือนวงการบันเทิงมากทีเดียว เพราะทั้งนักร้อง นักแสดง พิธีกร ดีเจ ที่ได้รับเชื้อก็หลายท่าน นอกจากนี้ยังมีผู้ที่สุ่มเสี่ยงที่ต้องกักตัวอีกก็มากมาย และทุกครั้งที่เกิดสถานการณ์วิกฤติ สิ่งที่มักจะมาพร้อมกันเสมอคือข่าวสารที่แพร่สะพัดออกไปทางโลกออนไลน์ ที่จะมีทั้งข่าวจริงและข่าวลวง งานนี้ “แคน-อติรุจ กิตติพัฒนะ” หรือที่รู้จักกันในนามของ “แคน-เดอะสตาร์” ซึ่งตอนนี้รับหน้าที่ผู้ประกาศข่าว และ ดีเจ ทำงานอยู่ทั้งวงการบันเทิง และวงการสื่อสารมวลชน ก็มีความห่วงใยสังคม ถึงการใช้วิจารณญาณในการเสพข่าวหรือรับข้อมูลต่างๆ จึงขอเป็นกระบอกเสียงหนึ่งในการประชาสัมพันธ์เรื่องของการตรวจสอบข้อมูล การเช็คให้ชัวร์ก่อนที่จะแชร์ข้อมูลข่าวสารออกไป โดย “แคน” เล่าว่า
ในสถานการณ์ที่ถือได้ว่าเป็นวิกฤตแบบนี้ สิ่งหนึ่งที่มักจะมาพร้อมกัน คือข่าวสารข้อมูลที่แชร์ต่อ ๆ กันในโลกออนไลน์ ที่มีทั้งข่าวจริงและข่าวลวง สิ่งที่น่ากังวลคือปัจจุบันนี้ทุกคนต่างมีสมาร์ทโฟน ที่พร้อมจะเป็นทั้งผู้รับสารและผู้ส่งสาร และทุกคนต่างจดจ่ออยู่กับการอัพเดตสถานการณ์ ด้วยความรีบร้อนจึงทำให้อาจตกเป็นเหยื่อของข่าวลวงได้ อย่างล่าสุดก็มีกระแสข่าวที่เพื่อน พี่ น้อง ในวงการบันเทิงหลายท่านได้รับเชื้อโควิดออกมามากมาย มีทั้งจริงบ้างไม่จริงบ้าง การแชร์ข่าวปลอมหลายครั้งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อบุคคลในข่าว ซึ่งแคนว่าเป็นสิ่งที่น่ากังวล มันเป็นเหมือนภัยเงียบที่คุกคามสังคมบ้านเรานะครับ ที่น่าเป็นห่วงคือวงจรข่าวลวงมันจะวนอยู่ในโลกออนไลน์ คนที่ติดตามก็จะได้รับข้อมูลผิด ๆ ไป ยิ่งในภาวะที่สังคมตึงเครียดแบบนี้ ข่าวลวงยิ่งจะซ้ำเติมความเครียด ความรู้สึกหดหู่ มีผลต่อสภาพจิตใจนะครับ ตรงนี้แคนเลยอยากเป็นอีกกระบอกเสียงหนึ่งในการรณรงค์ให้ทุกคนใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เมื่อเราได้รับข้อมูลมา เราควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าเป็นความจริงหรือไม่ หรือควรเลือกรับข่าวสารจากแหล่งข่าวที่มีความน่าเชื่อถือ รวมไปถึงก่อนที่เราจะแชร์ต่อ เราก็ควรจะเช็คให้ชัวร์ก่อนที่จะแชร์ เพื่อที่เราจะได้ไม่ตกอยู่ในวงจรข่าวลวงนั้น ไม่อย่างนั้นเราจะกลายเป็นผู้ผลิตซ้ำข่าวลวงได้โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจด้วยครับ หรือถ้าหากว่าใครที่ไม่ทราบว่าจะเช็คข้อมูลข่าวปลอมได้ยังไง วันนี้มีเว็บไซต์ที่เราสามารถเข้าไปเช็คได้ก็คือ Cofact.org ที่จะเป็นพื้นที่กลางให้พวกเราทุกคนช่วยกันเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสอบข่าวลวงได้ เรียกได้ว่า “เช็คให้ชัวร์ที่โคแฟค” จบข้อสงสัยได้ที่นี่เลยครับ ที่สำคัญเป็นเว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือเนื่องจากเป็นการทำงานร่วมกันของ สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านการตรวจสอบข่าวลวง อาทิ Center for Humanitarian Dialogue (HD) Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ชัวร์ก่อนแชร์ รวมทั้งภาคีองค์กรวิชาชีพสื่อ มหาวิทยาลัย และภาคประชาสังคมในท้องถิ่นอีกด้วย ฝากกันไว้ด้วยนะครับ เราจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวลวงครับ”
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news