Home
|
ทั่วไป

นวัตกรรมสมุนไพรไทยสู่การรักษาโรค NCDs อย่างยั่งยืน

Featured Image
วิทยาลัยเฮลท์ แอนด์ เวลเนส DPU นำเสนอนวัตกรรมยาสมุนไพร ตอกย้ำ การรักษาโรค NCDs อย่างยั่งยืนด้วยภูมิปัญญาไทย

 

วิทยาลัยเฮลท์ แอนด์ เวลเนส (College of Health and Wellness : CHW) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) โดย รศ.ดร.ภก.สุรพจน์ วงศ์ใหญ่ คณบดีวิทยาลัยเฮลท์ แอนด์ เวลเนส มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้เชี่ยวชาญสมุนไพรของสหประชาชาติ ได้รับเชิญเป็นวิทยากรจากประเทศไทย เข้าร่วมประชุมวิชาการนานาชาติเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ Austrian Summit on Natural Products ระหว่างวันที่ 16-19 มีนาคม 2568 พร้อมขึ้นบรรยายในหัวข้อ “การวิจัยและพัฒนายาสมุนไพรไทยสำหรับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในยุคใหม่: ความท้าทายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ” พร้อมยกตัวอย่างการวิจัยทางคลินิกของตำรับยาสมุนไพรไทยด้วยมาตรฐานการวิจัยระดับสากล ณ เมืองเซเฟลด์ (Seefeld) ประเทศออสเตรีย นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชมสถาบันวิจัยพัฒนายา Austrian Drug Screening Institute (ADSI) ที่เปิดรับบริการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรแบบมืออาชีพ (ยา อาหารเสริมและเครื่องสำอาง) อีกด้วย

 

สำหรับการจัดประชุมครั้งนี้ จัดโดย Austrian Drug Screening Institute (ADSI) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่จัดตั้งเป็นบริษัทในสังกัดของมหาวิทยาลัยอินส์บรุ้ค (University of Innsbruck) มีเป้าหมายเพื่อนำเสนอความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการวิจัยและพัฒนาสมุนไพร (Phytosciences) ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็นยา อาหารเสริมและเครื่องสำอาง

 

 

รศ.ดร.ภก.สุรพจน์ วงศ์ใหญ่ คณบดีวิทยาลัยเฮลท์ แอนด์ เวลเนส มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้เชี่ยวชาญสมุนไพรของสหประชาชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยมีตำรับยาสมุนไพรไทยมากมายที่รวบรวมไว้เป็นตำรับยาแผนไทยของชาติกว่า 50,000 ตำรับ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่สั่งสมมาจากภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยที่ทรงคุณค่าและได้รับการพิสูจน์จนเป็นที่ประจักษ์จากประสบการณ์ใช้งานจริงกับผู้ป่วยในคลินิกโดยแพทย์แผนไทยพบว่าตำรับยาที่ใช้ได้ผลดีมากกว่า 270 ตำรับ ในการรักษากลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs  (Non-Communicable Diseases) เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจหลอดเลือด โรคไตเสื่อม และมะเร็ง ซึ่งการรักษาด้วยตำรับยาสมุนไพรไทยเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยบรรเทาและรักษาโรค แต่ยังสามารถช่วยฟื้นฟูสุขภาพและลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ด้วย การแพทย์แผนไทยมีการวินิจฉัยและรักษาโรคแบบองค์รวม โดยพิจารณาปัจจัยทั้งร่างกายและจิตใจ สมุนไพรที่ใช้รักษาจะเลือกตามลักษณะของโรคและภาวะของผู้ป่วย ตัวอย่างเช่น โรค NCDs สามารถเลือกปรับใช้ตำรับยาแผนไทยได้โดยอาจต้องพัฒนาเป็นสารสกัดเข้มข้นและรูปแบบยาที่เหมาะสมให้สะดวกในการใช้ยา เช่น  การรับประทาน การใช้ทางผิวหนัง เป็นต้น

 

 

“นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรไทยที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และลดไขมัน เช่น จากขมิ้นชัน และรำข้าว ซึ่งได้รับการพิสูจน์เชิงประจักษ์ทางคลินิกถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย อีกกลุ่มหนึ่งของสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และบำรุงสมอง ที่ช่วยทำให้สุขภาพสมองดี หรือ สมาร์ทเบรน โดยช่วยเสริมความจำ การเรียนรู้ ลดความเครียด บรรเทาอาการซึมเศร้า ปรับสมดุลของสารเคมีในสมอง และลดความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อม เช่น บัวบก พรมมิ ขมิ้นชัน และใบแปะก้วย เป็นต้น”

 

 

รศ.ดร.ภก.สุรพจน์  ให้ข้อมูลเพิ่มว่า  ปัจจุบันเทรนด์สำคัญในอุตสาหกรรมสมุนไพร ได้แก่ ตำรับยาสมุนไพรที่มีหลักฐานเวชศาสตร์เชิงประจักษ์ที่พิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยการเน้นการพัฒนาตำรับยาที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการวิจัยเชิงลึก ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดโลกต้องการ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพรออร์แกนิก ที่มีความต้องการเพิ่มสูงมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความเป็นธรรมชาติ อาหารเสริมชนิดอาหารฟังก์ชัน (Functional Food): อาหารที่มีส่วนผสมจากสมุนไพรเพื่อเสริมสร้างสุขภาพให้ได้คุณค่ามากกว่าการเป็นสารอาหารปกติ กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก และ ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ: สมุนไพรที่มีสรรพคุณในการชะลอวัย (Anti-Aging) และเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุ กำลังเป็นที่ต้องการสูงเช่นกัน

 

สำหรับการพัฒนาในระดับการศึกษาและการต่อยอดเทคโนโลยี ของวิทยาลัยเฮลท์ แอนด์ เวลเนส DPU รศ.ดร.ภก.สุรพจน์ ระบุว่าทางวิทยาลัยได้ออกแบบหลักสูตรที่รองรับการพัฒนาสมุนไพรไทยอย่างยั่งยืน โดยเน้นการต่อยอดจากฐานภูมิปัญญาไทย โดยเฉพาะสมุนไพรไทยซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศ การนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาผสานเข้ากับองค์ความรู้ดั้งเดิมจะช่วยยกระดับการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยให้มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube