กลยุทธ์โลจิสติกส์เปลี่ยนแบรนด์เสื้อผ้าโตสวนกระแส

CIBA DPU เสิร์ฟกลยุทธ์โลจิสติกส์ เปลี่ยนร้านเสื้อผ้าเล็กๆ เป็นแบรนด์ “หญิงนิยม” ที่โตสวนกระแส
ในช่วงเวลาที่ต้นทุนทุกอย่างพุ่งสูง รอยยิ้มของพ่อค้าแม่ค้าหลายรายเริ่มจางลงตามจังหวะเศรษฐกิจ บางคนเลือกเบนหัวเรือไปทางอื่น บางคนยอมปล่อยมือจากของที่เคยรัก แต่ในมุมหนึ่งของประตูน้ำและคลองหลวง ยังมีร้านเสื้อผ้าขนาดเล็ก ที่ยืนยันจะยืนให้ได้ แม้พายุจะหนักกว่าวันที่เริ่มต้น
“หญิงนิยม” คือชื่อร้านที่ฟังดูนุ่ม แต่เบื้องหลังกลับแข็งแกร่งยิ่งกว่าผ้าเนื้อดีที่พับเรียงอยู่หลังร้าน “อุเทน คุ้มภัยเพื่อน” ศิษย์เก่าสาขาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เป็นเจ้าของกิจการที่ไม่ได้พกเงินถุงเงินถังก้อนโตมาเริ่มต้น แต่เริ่มจากสมุดเลคเชอร์ กับรายวิชาที่ให้ลองขายของจริง และเมื่อของที่ว่าขายดิบขายดี จึงต่อยอดจากห้องเรียนไปสู่ถนนจริง
เขาไม่ได้ใช้แค่ใจในการสู้ แต่ใช้หัวในการคิดทบทวนบทเรียนที่เคยเรียนมา เรื่องที่เคยฟังผ่านๆ ในชั้นเรียนกลายเป็นกลยุทธ์กู้ธุรกิจในวันที่ทุกอย่างแทบจะพังพินาศ และสิ่งนั้นเองคือ “พลังของโลจิสติกส์” ที่เขาเรียนรู้มาและลงมือใช้จริงในทุกขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจ
คุณอุเทน เล่าว่า จุดเริ่มต้นของธุรกิจไม่ได้เกิดขึ้นหลังเรียนจบ แต่เกิดขึ้นตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา โดยในระหว่างที่เรียนมีรายวิชาหนึ่งของหลักสูตรให้นักศึกษาต้องคิดแผนธุรกิจ สร้างตลาด และหารายได้จริง ซึ่งเขาเลือก “เสื้อผ้า” เป็นสินค้าทดลองขายภายในมหาวิทยาลัย ด้วยความตั้งใจและการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายอย่างดี ทำให้ได้รับการตอบรับที่ดีเกินคาด จึงเริ่มต้นขยายตลาดอย่างจริงจังในย่านประตูน้ำ จนสามารถเติบโตเป็นแบรนด์ “หญิงนิยม” ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น และก้าวขึ้นเป็นเจ้าของธุรกิจได้ ในวัยไม่ถึง 20 ปี
เมื่อธุรกิจต้องเผชิญกับอุปสรรค โดยเฉพาะการหายไปของลูกค้าต่างชาติจากสถานการณ์เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่ซบเซา คุณอุเทนเปิดใจว่า “วันนั้นผมได้นั่งทบทวนทุกอย่างที่เคยเรียนมาในห้องเรียน สิ่งที่อาจารย์สอนเรื่องซัพพลายเชนและการบริหารโลจิสติกส์ ผมนำมาคิดใหม่หมด และนั่นคือช่วงเวลาที่ทำให้ผมมั่นใจว่าการเลือกเรียนบริหารธุรกิจเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะความรู้เหล่านี้กลายเป็นคำตอบในการกู้ธุรกิจของผมกลับคืนมาได้”
สำหรับเคล็ดลับในการปรับตัวในธุรกิจเสื้อผ้ายุคปัจจุบันของคุณอุเทน มีอยู่ 3 ข้อหลักๆ ที่กลั่นมาจากประสบการณ์จริงและความรู้ในห้องเรียน ได้แก่
1.ต้องรู้พฤติกรรมลูกค้าอย่างลึกซึ้ง – ไม่ใช่แค่ขายเสื้อผ้า แต่ต้องรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายมีรสนิยมแบบไหน งบประมาณเท่าไหร่ และนิยมซื้อผ่านช่องทางใด เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสม
2.บริหารสต็อกให้คล่อง – ใช้แนวคิดโลจิสติกส์เข้าช่วยวางแผนจำนวนผลิตต่อวันให้ตรงกับออเดอร์ เพื่อลดปัญหาสินค้าคงค้างสต็อกและเสียทุนจม
3.สื่อสารกับลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ – ใช้กลุ่มไลน์และโซเชียลมีเดียในการแจ้งอัปเดตสินค้า สร้างความสัมพันธ์แบบใกล้ชิดเหมือนเพื่อน ทำให้ลูกค้ารู้สึกเชื่อมโยงกับแบรนด์และเพิ่มโอกาสในการกลับมาซื้อซ้ำ
ดร.อาทร จิตสุนทรชัยกุล อาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ประจำหลักสูตรบริหารธุรกิจสาขาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน CIBA DPU กล่าวชื่นชมว่า “คุณอุเทนเป็นตัวอย่างของผู้ประกอบการที่สามารถนำความรู้ด้านโลจิสติกส์ โดยเฉพาะเรื่อง ‘การบริหารสินค้าคงคลังอย่างมีประสิทธิภาพ’ มาใช้จริงในสถานการณ์ที่ท้าทาย และยังแสดงให้เห็นว่าโลจิสติกส์ไม่ใช่แค่เรื่องของการขนส่งเท่านั้น แต่เป็นกลยุทธ์สำคัญในการบริหารต้นทุนและเพิ่มโอกาสทางการตลาด”
ขณะที่ ดร.คุณากร วิวัฒนากรวงศ์ รองคณบดี CIBA DPU ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี เรามุ่งมั่นในการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่สามารถประยุกต์ใช้ความรู้เชิงกลยุทธ์และดิจิทัลให้เข้ากับบริบทของธุรกิจจริง การที่ศิษย์เก่าอย่างคุณอุเทนสามารถประสบความสำเร็จจากการนำองค์ความรู้ไปต่อยอดในโลกธุรกิจ ถือเป็นตัวอย่างที่น่าภาคภูมิใจ”
ทั้งนี้ เรื่องราวของ “หญิงนิยม” ไม่ได้เป็นเพียงธุรกิจเสื้อผ้า แต่ยังเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการปรับตัวและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่รอดในยุคโลจิสติกส์ดิจิทัล ด้วยการนำองค์ความรู้ด้านโลจิสติกส์มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้ธุรกิจสามารถก้าวผ่านความท้าทายและเติบโตอย่างแข็งแกร่ง นับเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าความรู้และกลยุทธ์ที่ดีสามารถสร้างโอกาสได้เสมอ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews