Home
|
ข่าว

กอ.รมน.ย้ำคุย “สันติสุข จชต.”ต้องอยู่ในกรอบรธน

Featured Image
กอ.รมน.ย้ำกรอบคุย “สันติสุข จชต.”ไม่ได้ปิดกั้นพูดคุยรูปแบบการปกครอง แต่ต้องอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ บอกเขตปกครองพิเศษแบบ กทม. – เมืองพัทยา ยังอยู่ใต้ รธน. หลังมีการปลุกกระแส เทียบซินเจียงอุยกูร์

 

พล.ต.ธรรมนูญ ไม้สนธิ์ โฆษก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวถึงกระแสสังคมเกี่ยวกับแนวคิดแนวคิด “เขตปกครองพิเศษ” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงการเทียบเคียงพื้นที่ดังกล่าวกับ “เขตปกครองตนเอง” ของมณฑลซินเจียง ของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยอ้างถึงความคล้ายคลึงบางประการ อาทิ มีการใช้ภาษาท้องถิ่นที่แตกต่างจากภาษาราชการ ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีอัตลักษณ์ ประเพณี วัฒนธรรม ที่เป็นของตนเองอย่างชัดเจน ว่า

 

กอ.รมน. ในฐานะหน่วยงานด้านความมั่นคงที่ดูแลและเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงมีความกังวลเนื่องจากมีข้อมูลปรากฎขึ้นอย่างหลากหลาย ซึ่งอาจไม่ครบถ้วนหรือไม่สมบูรณ์ อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือคลาดเคลื่อนได้ โดยขอเน้นย้ำว่า รัฐบาลพร้อมหารือพูดคุยกับทุกภาคส่วน ไม่ได้ปิดกั้นการพูดคุยเรื่องรูปแบบการปกครอง แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญไทย และไม่กระทบต่อบูรณภาพแห่งดินแดน

 

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยการเรียนรู้และพิจารณาบริบททางประวัติศาสตร์ โครงสร้างการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

 

เขตปกครองพิเศษ คือ พื้นที่ที่จัดรูปแบบการบริหารให้เหมาะสมกับบริบทเฉพาะ เช่น กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ที่มีโครงสร้างการบริหารท้องถิ่นที่ต่างจากจังหวัดทั่วไป โดยยังคงอยู่ภายใต้กฎหมายและรัฐธรรมนูญของไทย

 

เช่นเดียวกับในระดับนานาชาติ ฮ่องกงและมาเก๊าของจีน ซึ่งมีระบบกฎหมาย ศาล และนโยบายเศรษฐกิจของตนเองภายใต้หลัก “หนึ่งประเทศ สองระบบ” แต่ไม่มีอำนาจในด้านความมั่นคงหรือการต่างประเทศ

 

เขตปกครองตนเอง คือ พื้นที่ที่รัฐอนุญาตให้บริหารตนเองในบางด้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ศาสนา หรือภาษา เช่น มณฑลซินเจียงของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งอนุญาตให้ใช้ภาษาอุยกูร์ และมีสภาท้องถิ่น แต่ยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดจากรัฐบาลกลาง

 

สำหรับ บริบทของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ภาษา และศาสนาเฉพาะตัว เช่นเดียวกับจังหวัดอื่นที่มีประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณี วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ อย่างเชียงใหม่หรือแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีการใช้ภาษาท้องถิ่น การแต่งกาย และวัฒนธรรมประจำถิ่นที่แตกต่าง แต่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญเดียวกัน

 

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยตระหนักถึงความสำคัญของการเคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการนับถือศาสนาอิสลาม การดำเนินชีวิตตามหลักศาสนา ตลอดจนการแสดงออกทางวัฒนธรรมอันหลากหลาย ซึ่งล้วนได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมภายใต้กรอบตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 31 บัญญัติไว้ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน…”

 

ซึ่งสะท้อนถึงความตั้งใจของรัฐในการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการดำเนินชีวิตตามหลักความเชื่อและวัฒนธรรมที่หลากหลายของประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

 

กอ.รมน. จะยึดมั่นการพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ด้วยความ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” บนพื้นฐานของความร่วมมือ ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของความสันติสุข การเคารพซึ่งกันและกัน และโอกาสที่เท่าเทียม โดยจะเดินหน้ายุทธศาสตร์ความมั่นคงควบคู่กับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และพร้อมเป็นกลไกในการประสานเชื่อมโยงระหว่างรัฐกับประชาชน เพื่อรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์สูงสุดของประเทศเพื่อคนไทยทุกคน

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube