แผ่นดินไหวตอผุด! ยิ่งขุดยิ่งเจอ ตึกสตง.ถล่ม ส่อปมทุจริต
แผ่นดินไหวตอผุด! ยิ่งขุดยิ่งเจอ ตึกสตง.ถล่ม ส่อปมทุจริต
เป็นเวลาเกือบ 1 เดือนกับเหตุการณ์อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างพังถล่มลงมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขณะนี้หลายภาคส่วนยังระดมสรรพกำลัง ในการรื้อเศษซากอาคารที่พังถล่มควบคู่ไปกับการค้นหาร่างของผู้สูญหายในซากตึกแห่งนี้ แต่สิ่งที่สังคมจับตาและจับจ้องนั่นคือ การพังถล่มของตึก สตง. ในครั้งนี้ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ใครจะต้องรับผิดชอบ สาเหตุของตึกถล่มเกิดจากอะไร แม้ขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษและตำรวจยังคงเร่งรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด
โดยในส่วนของ ดีเอสไอ ที่ดูเรื่องคดี นอมินีเป็นหลัก ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา เพื่อออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องในบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทน (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ก่อสร้างอาคารสตง. รวม 4 คน เป็นคนจีน 1 คน และ คนไทย 3 คน คือ ชวนหลิง จาง สัญชาติจีน กรรมการผู้ถือหุ้น 49 % ให้การยอมรับว่า เป็นผู้แทนรัฐวิสาหกิจของประเทศจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยในนามรัฐบาลจีน ไม่ได้ให้ใครมาถือหุ้นแทน และเป็นเพียงฝ่ายบริหารที่ถูกส่งมาบริหารบริษัทในไทย ส่วนคนไทย คือนายโสภณ มีรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 40.80% นายประจวบ ถือหุ้น 10.20% หรือ 102,000 หุ้น และมานัส ถือหุ้นเพียง 3 หุ้น
พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ ( ดีเอสไอ) ให้ข้อมูล ว่า ทั้ง 3 คน ให้ข้อเท็จจริงตรงกัน เรื่องความสัมพันธ์กับกรรมการถือหุ้นชาวจีน ชวนหลิน จาง ว่า เขา รู้จักกันโดยประจวบและมานัส เคยทำงานในบริษัทที่มีกรรมการชาวจีนเกี่ยวข้องอยู่และไม่ได้เริ่มงานกับ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ แต่เริ่มต้นมาจากทำงานกับบริษัทอื่น ส่วนนายโสภณ ถูกชักชวนจากประจวบและมานัส หลังเกิดเหตุการณ์อาคารสตง.ถล่ม ทั้งหมดได้กบดานเงียบ จนกระทั่งทราบว่าตนเองถูกออกหมายจับ จึงทยอยเข้ามอบตัว ทั้งหมดถูกแจ้งข้อหาความผิด พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาตรา 37 และมาตรา 41
จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ ของดีเอสไอ เรียกได้ว่า ยิ่งสอบลึก ยิ่งขุด ยิ่งเจอความผิดปกติ ทั้งการลดงบประมาณ และการแก้แบบต่าง ๆ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุว่า ข้อมูลที่ดีเอสไอได้เป็นส่วนหนึ่ง ในคดีนอมินีจะเป็นประโยชน์ โดยนายสมเกียรติถือเป็น 1 ในจิ๊กซอว์ที่จะนําไปเชื่อมโยงเรื่องราวทั้งหมดการปลอมแปลงเอกสารจะเป็นสาเหตุอะไรหลาย ๆ อย่างหรือไม่ อาทิ การออกแบบ การควบคุมงานจะต้องมีการขยายผลอยู่แล้ว การปลอมแปลงลายเซ็นวิศวกรผู้ควบคุมงานก่อสร้าง เป็นเรื่องอื้อฉาวขึ้นเมื่อนายสมเกียรติ ชูแสงสุข ประธานอนุกรรมการคลินิกช่าง ภายใต้วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้าลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจนครบาล (สน.) วังทองหลาง หลังพบว่าตนเองถูกแอบอ้างชื่อในเอกสารแก้ไขแบบปล่องลิฟต์ของอาคาร สตง. แห่งใหม่ที่พังถล่มลงมา
นายสมเกียรติ บอกว่าจากการตรวจสอบเอกสาร พบว่า ตนเองถูกแอบอ้างชื่อมา 5 ปี และยืนยันลายเซ็นทั้งหมดเป็นของปลอม พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทที่นำชื่อเขาไปแอบอ้าง ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายเดือนละกว่า 100,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราตอบแทนรายเดือนสำหรับวิศวกรรมโยธา ผู้ควบคุมงานโครงสร้างขนาดใหญ่ นอกจากพิรุธการปลอมแปลงลายเซ็นแล้ว ข้อมูลสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยคือพบรายชื่อบุคคลที่เซ็นชื่อออกแบบก่อสร้างอาคาร สตง. แห่งนี้ เป็นวิศวกรที่มีอายุมากถึง 85 ปีซึ่งเจ้าตัวชี้แจงว่าไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไร กับการออกแบบตึก สตง.ครั้งนี้เพราะไม่ได้ออกแบบมานานแล้ว
พ.ต.อ. ทวี ยังระบุว่า ตามปกติแล้ว การก่อสร้างหน่วยงานราชการจะให้กรมโยธาธิการและผังเมืองหรือกรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ แต่กรณีของ ตึก สตง. ทั้งสองหน่วยงานไม่ได้เป็นผู้ออกแบบ เนื่องจากไม่สามารถออกแบบได้ทันตามกรอบเวลา 180 วัน ซึ่งดีเอสไอ ระบุว่า “ไม่ได้ผิดปกติมากนัก” กระทั่งตึกถล่มมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายเป็นเบือ และวิศวกรวัย 85 ถูกแอบอ้างชื่อ จึงชี้ชัดว่า การออกแบบอาคาร สตง. มีปัญหา และมีความ “ผิดปกติอย่างยิ่ง”
ขณะที่ สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ออกเอกสารชี้แจง ขั้นตอนการดําเนินการเกี่ยวกับการบริหารสัญญา (กรณีการปรับแก้ผนังปล่องลิฟต์ (Core Lift) บางจุด และการแก้ไขสัญญา โดยระบุว่า ในการดําเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่ทําการสํานักงานแห่งใหม่ สตง.ได้ทําสัญญาว่าจ้างผู้รับจ้างออกแบบ กรณีการปรับแก้ผนังปล่องลิฟต์บางจุดเกิดขึ้นในช่วงการบริหารสัญญาระหว่างดําเนินการก่อสร้าง โดยผู้รับจ้างก่อสร้างพบว่าแบบงานโครงสร้างขัดกับแบบงานสถาปัตยกรรมภายใน กล่าวคือ ขนาดของผนังปล่องลิฟต์บริเวณทางเดินเมื่อรวมกับวัสดุตกแต่งตามแบบ ทําให้ทางเดินมีความกว้าง ไม่เป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 สตง.จึงได้ดําเนินการตาม ขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบของทางราชการ ทุกขั้นตอน
กระแสสังคมเรียกร้องให้หน่วยงานที่ตรวจสอบ เรื่องตึก สตง. ถล่ม เร่งสืบสวนสอบสวน เพื่อหาคนผิดที่แท้จริงมาลงโทษ เพราะนอกเหนือจากที่ ต้องออกมาแสดงความรับผิด กับการเสียชีวิตของคนจำนวนมากแล้ว ยังต้องรับผิดชอบต่องบประมาณแผ่นดินที่ต้องสูญเสียไปในครั้งนี้ อีกด้วย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews