กทม.เดินหน้าค้นหาผู้สูญหายตึกสตง.ถล่ม

รองผู้ว่าฯ ทวิดา ย้ำ กทม. ขยายรับเรื่องผู้ประสบภัยถึง 2 พ.ค. พร้อมเดินหน้าปรับขั้นตอนให้ง่ายขึ้น-ยอดผู้เสียชีวิตรวม 62 ราย
วันนี้ (26 เม.ย.68) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร (สปภ.) เปิดเผยความคืบหน้าภารกิจค้นหาผู้ติดค้าง และการรื้อถอนซากอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เขตจตุจักร ที่พังถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว
รศ.ทวิดา กล่าวว่า วานนี้พบผู้ติดค้างเพิ่มเติม 2 ราย ในบริเวณที่คาดว่าเป็นบันไดหนีไฟ ตามที่ทีมค้นหาจากนานาชาติได้มีการประเมินและระบุจุดต้องสงสัยไว้ ส่งผลให้ปัจจุบัน พบผู้เสียชีวิตแล้ว 62 ราย บาดเจ็บ 9 ราย และอยู่ระหว่างการค้นหาอีก 32 ราย จากผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด 103 ราย และในส่วนของความคืบหน้าการดำเนินงานสามารถรถระดับความสูงโดยเฉลี่ยทั้ง 4 โซน ลงจากวันแรกที่ 26.8 ม. เหลือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.5 ม. ได้แล้ว โดยลดลงจากวานนี้ประมาณ 1 ม. เชื่อมั่นว่า อีก 2-3 วันหลังจากนี้จะพบผู้ติดค้างที่เหลือเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของการดำเนินการ วันนี้ทีมเจ้าหน้าที่มีการตั้งเป้าหมายว่าจะดำเนินการรื้อถอน ค้นหา และขนย้ายเศษซากอาคารออกจากพื้นที่ให้ได้ถึง 330 เที่ยว เพื่อให้การดำเนินงานมีความคืบหน้าอย่างรวดเร็วที่สุด
ส่วนแผนปฏิบัติการต่อจากนี้จะมุ่งเน้นไปที่ชั้นใต้ดิน โดยเฉพาะโซน B, A และ D ที่ต้องใช้วิธีเจาะเป็นรูปตัวยู คาดว่าหากสามารถเปิดพื้นที่ถึงบริเวณพื้นชั้น 1 ได้ภายใน 2-3 วันนี้ และการเคลียร์ชั้นใต้ดินที่มีความลึกประมาณ 4 เมตร จะใช้เวลาอีกประมาณ 1 สัปดาห์ โดยวานนี้ใช้น้ำมันในการขนย้าย ประมาณ 6,600 ลิตร เนื่องจากเครื่องจักรหนักทำงานตลอดเวลา พร้อมยืนยันว่าจะทำงานทุกขั้นตอนอย่างละเอียด รอบคอบ เพื่อนำร่างผู้ติดค้างออกมาให้ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานต้องบอกว่าเป็นหน้าที่ของกทม.ในการแก้ไขเหตุสาธารณภัยอยู่แล้ว ส่วนในอนาคตหากมีการดำเนินคดีและพบผู้กระทำผิดก็จะเป็นเรื่องของการดำเนินการทางระเบียบกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ กทม. มุ่งมั่นทำงานให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายโดยยังไม่ได้คำนึงถึงเรื่องค่าใช้จ่ายที่ใช้ไป
ปัจจุบัน กทม.มีการออกใบมรณบัตรแล้ว 44 ใบโดยสำนักงานเขตจตุจักร และรับรองการเสียชีวิตแล้ว 33 ราย เหลืออีก 11 รายอยู่ในระหว่างการดำเนินการ ส่วนผู้บาดเจ็บที่เคยมี 8 ราย ขณะนี้เหลือเพียง 1 รายที่ยังพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ขณะเดียวกันมีการยืนยันอัตลักษณ์ผู้เสียชีวิตแล้ว 62 ราย โดยยังคงต้องค้นหาชิ้นส่วนและร่างที่สูญหายอีก 32 ราย เพื่อดำเนินการพิสูจน์อัตลักษณ์ต่อไป และส่งคืนให้กับญาติอย่างเหมาะสมต่อไป ซึ่งเมื่อนิติเวชมีการยืนยันอัตลักษณ์เพิ่มเติมแล้วจะมีการแจ้งให้สื่อมวลชนได้รับทราบต่อไป เพื่อให้การยืนยันจำนวนผู้เสียชีวิตชัดเจนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ในส่วนเรื่องการเยียวยาผู้ประสบความเดือดร้อนจากเหตุแผ่นดินไหว กทม. ได้ขยายการยื่นเรื่องจนถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 เพื่อชดเชยวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ โดยเขตที่มีผู้ยื่นเรื่องมากที่สุด ได้แก่ เขตจตุจักร ภาษีเจริญ ห้วยขวาง ธนบุรี ราชเทวี วัฒนา เนื่องจากเขตเหล่านี้มีอาคารสูงค่อนข้างมากที่เป็นพักอาศัย จึงทำให้ยอดผู้ประสบ ภัยมีจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้การยืนยันหลักฐานด้วยตนเองเพื่อขอรับเงิน ก็เป็นสิ่งที่ดีที่จะป้องกันเรื่องของการสวมตัว สวมสิทธิ์ ซึ่งปัจจุบันจำนวนผู้ยื่นเรื่องอยู่ที่ประมาณ 40,000 กว่าคน ดังนั้นกระบวนการในการพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาจึงอาจต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าที่จะได้รับเงิน
ส่วนเรื่องเพดานเงินชดเชยเยียวยาของกรมบัญชีกลางที่มีเพดานการจ่ายเงินในอัตราต่างๆ โดยเทียบราคาจากวัสดุตามระเบียบที่กรมบัญชีกลางมีตั้งไว้ เนื่องจากภาครัฐมีอัตราราคาของวัสดุที่มีราคากลางที่ชัดเจน ซึ่งจำนวนเงินอาจจะไม่เป็นไปตามความต้องการของประชาชน เนื่องจากอาจจะเห็นว่าไม่เหมาะสมกับความเสียหาย ก็ต้องขอเวลาเพื่อประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ว่าจะสามารถยืดหยุ่นตรงส่วนใดได้มากกว่านี้บ้าง นอกจากนี้เนื่องจากเป็นการชดเชยจากทางภาครัฐ ผู้ที่ทำประกันอาคารไว้ยังสามารถเคลมประกันจากทางบริษัทประกันและนิติบุคคลได้อีกทางด้วยเช่นกัน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews