เอกนัฏ ล้างมาเฟีย มอก.-รื้อระบบเก่า “กมอ.ชุดใหม่” ไร้ “คน สมอ.”

เอกนัฏ ล้างมาเฟีย มอก.-รื้อระบบเก่า “กมอ.ชุดใหม่” ไร้ “คน สมอ.” ส่ง 6 ชื่อโปรไฟล์หรู ร่วมปฏิรูปอุตฯ-บู๊แก๊งศูนย์เหรียญ
ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 เม.ย.68 ได้มีมติอนุมัติแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ จำนวน 6 คน ประกอบด้วย รศ.วีระพงษ์ แพสุวรรณ, ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต, ดร.อดิสร เตือนตรานนท์, น.ส.พิมพ์นารา จิรานิธิศ, ดร.สุเมธ ตั้งประเสริฐ และ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เพื่อแทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กมอ. 6 รายเดิม ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่งนั้น
รายงานข่าวจาก กระทรวงอุตสาหกรรม ถึงแนวทางการคัดเลือกและทาบทามบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กมอ.ชุดใหม่ แจ้งว่า นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ได้มอบนโยบายเบื้องต้นว่า นอกเหนือจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับ และไม่มีประวัติด่างพร้อยแล้ว ยังต้องมีความเข้าใจโจทย์ และภารกิจสำคัญในการปฏิรูประบบอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ รวมถึงภารกิจการปราบอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญอย่างถอนรากถอนโคน
ซึ่ง กมอ.ถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญ ด้วยบทบาทในการกำหนดมาตรฐานภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะขณะนี้ที่กำลังมีประเด็นมาตรฐานเหล็กที่ผลิตจากเตาอินดักชั่น (IF) ที่ รมว.อุตสาหกรรม ได้มีข้อสั่งการให้ กมอ.พิจารณาทบทวนการรับรองมาตรฐานเหล็กเส้น IF เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงแล้วว่า กระบวนการผลิตเหล็กโดยเตาหลอมแบบ IF ไม่สามารถควบคุมคุณภาพของเหล็กได้ อีกทั้งยังพบปัญหาในการกำจัดสารเจือปน
และสิ่งแปลกปลอมที่มากับเศษเหล็ก สร้างมลพิษฝุ่น และแก๊สพิษจากกระบวนการผลิต แต่กลับยังมีการรับรองเหล็ก IF มาจนถึงปัจจุบัน ทั้งที่ในความเป็นจริงก็พบปัญหาและข้อร้องเรียนเกี่ยวกับเหล็ก IF มาตลอดเกือบ 10 ปี ตั้งแต่มีการรับรองเตาหลอม IF เมื่อปี 2559 กระทั่งมาเกิดโศกนาฏกรรมอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ย่านจตุจักรถล่ม เมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 ที่ผ่านมา ซึ่งตรวจสอบพบเหล็กเส้น IF ในซากอาคารจำนวนมาก
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า กรณีที่ กมอ.ชุดที่ผ่านๆมาไม่มีการทบทวนการรับรองมาตรฐานเหล็ก IF ทั้งที่พบปัญหามาตลอด รวมถึงมีกรณีปล่อยปละละเลยการควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ จนส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน อีกทั้งยังสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรม และระบบเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง เป็นเหตุผลสำคัญที่ในการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กมอ.ชุดใหม่ทั้ง 6 รายในครั้งนี้ปราศจากตัวแทนจาก สมอ.
ซึ่งถือเป็นขาประจำของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กมอ. จนถูกมองเป็นการสืบทอดอำนาจ เช่น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กมอ.ชุดก่อน 6 รายที่หมดวาระไปนั้นมีถึง 3 รายที่เป็นอดีตเลขาธิการ สมอ. จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่า อาจส่งผลให้การพิจารณาเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของ กมอ.บางครั้งไม่ได้ใช้ดุลยพินิจประกอบข้อมูลและข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบ เนื่องจากเห็นว่าบางเรื่องได้ผ่านการพิจารณาของ กมอ.ชุดก่อนๆ ซึ่งมีอดีตเลขาธิการ สมอ.ที่อาวุโสกว่าร่วมเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กมอ.พิจารณามาแล้ว
หรืออาจเป็นประเด็นความสัมพันธ์ส่วนตัวของบุคลากรที่เติบโตและรับราชการใน สมอ.มาด้วยกันจนเกิดความเกรงใจ ตลอดจนอาจมีเรื่องผลประโยชน์ต่างๆมาเกี่ยวข้อง ทั้งนี้กฎหมายและระเบียบของ กมอ.กำหนดให้เลขาธิการ สมอ.คนปัจจุบัน ซึ่งเป็นกรรมการ และเลขานุการ กมอ.โดยตำแหน่ง เป็นผู้เสนอวาระ และข้อมูลประกอบการพิจารณาต่อที่ประชุม กมอ. หากมีอดีตเลขาธิการ หรืออดีตบุคลากรจาก สมอ. เข้าร่วมเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กมอ.อีก อาจส่งผลให้กรอบความคิดจากบุคลากรที่เติบโตมาจาก สมอ. มีอิทธิพลชี้นำและครอบงำแนวทางการทำงาน และดุลยพินิจในการพิจารณาของที่ประชุม กมอ. จนทำให้การพิจารณาไม่ครอบคลุมครบทุกมิติเหมือนที่ผ่านมา
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews