Home
|
ข่าว

“อนุทิน” เสียใจหญิงชราป่วยโควิดเสียชีวิต1ราย

Featured Image
“อนุทิน” เสียใจหญิงชราป่วยโควิด อยู่บ้านตามลำพัง 3 ราย เสียชีวิต 1 ราย มั่นใจได้ทำอย่างดีที่สุดแล้ว เร่งเพิ่มช่องทางประสานรับตัวผู้ป่วย

นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) กล่าวถึงกรณีที่มีการปล่อยให้ หญิงชราป่วยโควิด 3 คน ใช้ชีวิตตามลำพัง และล่าสุดได้เสียชีวิตไปแล้ว 1 ราย ก่อนจะมีการนำอีก 2 รายเข้ารับการรักษา ว่า นายอนุทิน คณะผู้บริหาร และบุคลากรในกระทรวงทุกคนรู้สึกเสียใจ เพราะมั่นใจว่า ได้ทำอย่างดีที่สุดแล้ว และมองว่า เรื่องนี้ เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเรายึดนโยบายเดียวกันว่า จะต้องรักษาผู้ป่วยให้ปลอดภัย แต่การระบาดรอบนี้ สถานการณ์รุนแรงกว่าทุกครั้ง เป็นคนละสายพันธุ์จากที่คนไทยเคยเจอ

ขณะนี้ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือ สิ่งที่สำคัญมาก ทางกระทรวงฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เพิ่มช่องทางการประสานทั้งขอคำปรึกษา และรับตัวผู้ป่วย ในส่วนของการรับตัวผู้ป่วยนั้น ทุกหน่วยงานพยายามอย่างสุดความสามารถ เพื่อให้เข้าถึงตัวผู้ป่วยอย่างเร็วที่สุด แต่หลายครั้ง ก็ติดปัญหา อุปสรรค ก็ต้องแก้ไขกันต่อไป กรณีที่ผู้สูงอายุ ต้องอยู่โดยลำพังทั้งที่ติดโควิด-19 ถือเป็นบทเรียนการทำงานให้กับทุกคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ซึ่งนายอนุทิน รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้โทษคนทำงาน เพราะทราบว่าทุกคน ทุกฝ่าย ทำงานกันอย่างสุดความสามารถ และนี่ไม่ใช่เวลาจะมาชี้นิ้วโทษใคร แต่ขอให้ช่วยกันทำงาน และขอให้ทุกคนช่วยเข้าไปหาทางปรับปรุงการให้บริการให้ดีขึ้น

ส่วนที่มีการแชร์ภาพว่าสายด่วน 1668 ขาดแคลนเรื่องเครื่องมือในการทำงาน มีเพียงเจ้าหน้าที่ กับโทรศัพท์ ใช้ระบบจดด้วยมือแทนคีย์ข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์โดยตรง ชี้แจงว่า รูปแบบการทำงานนั้น จะให้เจ้าหน้าที่จดข้อมูล เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วน จึงจะไปประมวล และบันทึกในคอมพิวเตอร์ที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน ปกติ จะทำงานกันตั้งแต่เวลา 08.00 – 22.00 น. แต่ปัจจุบันนี้ ทำงานกันจนถึงตีหนึ่ง ก็ไม่ได้หยุด เจ้าหน้าที่ทุ่มเทเสียสละอย่างยิ่ง

นายอนุทิน และผู้บริหาร ได้เดินหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาการประสานงานแล้ว เป็นทีมประเทศไทย มุ่งหวังให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด สายด่วน1668 เป็นสายด่วนเฉพาะกิจ บูรณาการหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยในเรื่องของการดูแลแก้ไขในสถานการณ์โควิด 19 โดยเฉพาะ แบ่งเป็น

  1. ทีมรับสาย Hotline 1668 จากผู้ป่วยโควิด-19 สอบถามข้อมูลรายละเอียดของผู้ป่วย
  2. ทีมข้อมูล มีหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลจากทีมงานสายด่วนและทีมประสานงาน วิเคราะห์ข้อมูล จัดทำฐานข้อมูล สรุปข้อมูลรายวัน
  3. ทีมแพทย์ มีทีมแพทย์ประเมินอาการระดับความรุนแรงของผู้ป่วย ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ ตามความรุนแรงของโรค
  4. ทีมตอบสนองและประสานงาน มีหน้าที่ประสานขอเตียงจากโรงพยาบาลเป้าหมาย รวมทั้งโทรเยี่ยมติดตามอาการของผู้ป่วย

ซึ่งแต่ละสายใช้เวลาในการพูดคุย ขณะที่ ในส่วนของการรักษา ได้ปรับมาตรการสำรองยาฟาวิพิราเวียร์จาก 5 แสนเม็ด เป็น 2 ล้านเม็ด พร้อมปรับเกณฑ์ การใช้ยาให้เร็วขึ้น ทุกคนในกระทรวงสาธารณสุขทำสุดความสามารถในการแก้ไขวิกฤต สถานการณ์ ณ ตอนนี้ ต้องขอความร่วมแรงร่วมใจจากพี่น้องประชาชนคนไทย ขอให้ตั้งการ์ดให้สูงที่สุดใส่ หน้ากาก หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง ลดการเดินทาง ทุกคนสามารถช่วยประเทศไทยได้

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube