อย่าหาทำ สวมหน้ากากอย่างไรไม่ให้โดนปรับ
ศูนย์โควิดกระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) สรุปข้อมูลของจังหวัดต่างๆ ที่ออกประกาศให้ประชาชนต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย หรือ แมสก์ ตลอดเวลา เมื่ออยู่นอกเคหสถาน หรืออยู่ในที่สาธารณะ มีจำนวนทั้งสิ้น 50 จังหวัด ตามประกาศคำสั่งนั้น แจ้งอัตราโทษหากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับสูงสุด 20,000 บาท โดยสามารถเช็คจังหวัดได้ที่นี่ เช็คจังหวัด
ดังนั้น เมื่อต้องออกจากบ้านไปยังสถานที่ใด ต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งแม้จะอยู่คนเดียวก็ตาม แต่รายละเอียดจะเป็นอย่างไรบ้าง ไอ.เอ็น.เอ็น ได้สรุปมาเป็นข้อๆไว้ให้แล้ว
อยู่ในรถต้องสวมหน้าหน้ากากไหม ?
ข้อมูลจากกรุงเทพมหานคร ระบุว่า
- เมื่อต้องขับรถ ไปเพียงลำพังคนเดียว อนุโลม ไม่ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย
- แต่หากมีผู้โดยสารร่วมเดินทางไปในรถคันเดียวกัน แม้จะเป็นคนในครอบครัวเดียวกันก็ตาม ทุกคนบนรถก็ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด19
- แม้ว่าจะขับรถไปเพียงลำพังคนเดียว แต่ถ้าต้องลดกระจกรถลงมาเพื่อจ่ายค่าทางด่วน หรือ พูดคุยกับคนอื่น ต้องสวมหน้ากากทุกครั้งเช่นกัน
การจัดรายการในสตูดิโอล่ะ?
นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า
- พิธีกร หรือ ผู้ดำเนินรายการ ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่จัดรายการเช่นเดียวกัน เพราะสตูดิโอถือว่าเป็นสถานที่นอกเคหสถานและสถานที่พำนัก ตามประกาศดังกล่าว อีกทั้งมีลักษณะเป็นห้องปิด ซึ่งมีผู้เข้ามาใช้งานอย่างต่อเนื่อง การทำงานของพิธีกร ผู้ดำเนินรายการจึงอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องสวมหน้ากากตามที่กำหนดในประกาศ
- อีกทั้งผู้ประกาศเป็นบุคคลสาธารณะที่จะมีภาพปรากฎต่อสาธารณชนทั่วไป จึงควรสวมหน้ากากเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับประชาชน
คนกลุ่มไหนที่ได้รับการอนุโลมไม่ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย?
- เด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 2ปี ไม่ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระบุว่า ในทางการแพทย์ ไม่แนะนำให้เด็กต่ำกว่า 2 ปี สวมหน้ากาก เพราะเด็กยังไม่รู้วิธีที่จะถอดหน้ากากออกและอาจจะขาดอากาศหายใจจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงเข้าข่ายอนุโลมไม่ต้องสวมหน้ากาก
- ควรหลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กไปในสถานที่แออัด หรือพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด
เอ๊ะๆๆๆ และหากพบการฝ่าฝืนไม่สวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะ จะมีโทษอย่างไรบ้าง?
บัญชีอัตราการเปรียบเทียบแนบท้ายระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบ พ.ศ.2563 ระบุฐานความผิดว่า หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา 34 มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
มาขยายความเรื่องโทษปรับให้ชัดเจนกันอีกนิด
พล.ต.อ.ดำรงค์ศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงการดำเนินการกับผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ออกประกาศ 48จังหวัด รวมกทม.ให้ประชาชนทุกคนใส่หน้ากากอนามัย ก่อนออกจากเคหสถาน ทั้งนี้หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะถือว่ามีความผิด ตำรวจหรือพนักงานสอบสวนก็เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ที่สามารถเปรียบเทียบปรับได้ โดยปรับความผิดครั้งแรกในอัตรา 6,000 บาท ครั้งที่ 2 จำนวน 12,000 บาท ความผิดครั้งที่ 3 หากยังทำอีกครั้งก็จะเปรียบเทียบปรับที่ 20,000 บาท แต่ทั้งนี้พนักงานสอบสวนสามารถใช้ดุลยพินิจตามข้อ 8 คือมีเหตุผลพิเศษอันควรที่จะลดค่าปรับได้คำนึงถึงความหนักเบาของข้อหาและพฤติการณ์ รวมถึงความเสียหายที่เกิดผลกระทบต่อประชาชน เช่น อายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษา สุขภาพ อาชีพ ฯลฯ สามารถเปรียบเทียบปรับลดลงได้แต่ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือไม่น้อยกว่า 2,000 บาท แต่หากผู้ต้องหาไม่ยินยอมก็จะต้องส่งฟ้องศาล ซึ่งศาลจะใช้ดุลยพินิจในการเปรียบเทียบปรับ
ดังนั้น ทุกครั้งที่เราต้องออกจากบ้าน ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเองที่ไม่ต้องรับเชื้อจากบุคคลกลุ่มเสี่ยง ที่เราไม่รู้ว่าใครมีเชื้อโควิดบ้าง และสวมหน้ากากอนามัย จะได้ไม่ถูกปรับ เพราะเงิน 20,000 บาทในยุคนี้ถือว่ามีค่ามาก
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news