รู้ไว้ก่อนฉีด ม.41 เยียวยาผลข้างเคียงวัคซีนโควิด
ข่าวผลข้างเคียงวัคซีนโควิดเป็นที่พูดถึงกันมากในประเทศไทย หลังจากมีผู้ได้รับวัคซีน sinovac แล้วเกิดอาการแพ้ ทำให้หลายคนกลัวที่จะฉีดวัคซีน แต่ทราบหรือไม่ว่า หากผู้ที่ฉีดวัคซีนได้รับผลข้างเคียงและมีผลต่อการใช้ชีวิต จะได้รับการเยียวยาตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ โดยกรณีรุนแรงต่อชีวิตจะได้รับเงินเยียวยาสูงสุด 400,000 บาท โดยเฉพาะหากผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้วเห็นว่าเกิดขึ้นจากวัคซีนจะชดเชยให้ตามข้อกำหนดมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ารู้ก่อนที่ตัวเราและครอบครัวจะฉีดวัคซีน
แพ้วัคซีนรัฐดูแล
โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) ระบุว่า กรณีที่มีผลข้างเคียงรุนแรงเกิดขึ้นภายหลังการรับวัคซีนโควิด-19 และผลการสืบสวนของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้วเห็นว่าเกิดขึ้นจากวัคซีน จะมีการชดเชยให้กับผู้ที่รับวัคซีนตามข้อกำหนดมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 กรณีการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นในกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ ซึ่งจะครอบคลุมทุกคน
สำหรับขั้นตอนการดูอาการผู้รับการฉีดวัคซีนนั้น หลังฉีดวัคซีน COVID-19 แพทย์จะมีการติดตามดูอาการหลังฉีดเป็นเวลา 30 นาที จากนั้นจะติดตามวันที่ 1, 7 และ 30 ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ โทรศัพท์สอบถามโดยเจ้าหน้าที่ รพ. และ อสม. หากผู้รับการฉีดวัคซีน มีอาการไม่มีแรง แขนขาอ่อนแรงเฉียบพลัน มีไข้ หรือ ปวดศีรษะ ปวดบวมแดงร้อนบริเวณที่ฉีด ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก ผื่นลมพิษ อาการอื่น ๆ เช่น ท้องเสีย ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
หรือ หากมีอาการเจ็บป่วย ที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล จะส่งรายงานเข้าไปยังกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิจารณาว่าผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นเกิดจากอะไรและเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ หากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณาว่า เกิดจากวัคซีนจะเยียวยาเบื้องต้นตามข้อกำหนด
เงื่อนไขในแต่ละกรณี
ทั้งนี้ตามข้อกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ ตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ประกอบด้วย
1.กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวรหรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิตและมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือได้ตั้งแต่ 2.4 แสนบาท แต่ไม่เกิน 4 แสนบาท
2.กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือได้ตั้งแต่ 1 แสนบาท แต่ไม่เกิน 2.4 แสนบาท และกรณีบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกิน 1 แสนบาท
3.กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวรหรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต และมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือได้ตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท ส่วนกรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิตจ่ายเงินช่วยเหลือได้ตั้งแต่ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 240,000 บาท และกรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่องจ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกิน 100,000 บาท
อาการที่พบได้บ่อยหลังฉีดวัคซีน
สำหรับอาการข้างเคียงวัคซีน ในด้านของอาการไม่พึงประสงค์เป็นอาการที่พบบ่อย ใน 24- 48 ชั่วโมงแรกหลังฉีด “ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศูนย์เด็ก (โรคติดเชื้อ) โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ระบุว่า คือ ปวดบริเวณฉีด ครั่นเนื้อครั่นตัวหมือนเป็นไข้หนาวสั่นซึ่งก็จะหายไปเอง ส่วนอาการที่ต้องรีบไปพบแพทย์ และเป็นอาการที่ต้องจับตามองเกิดขึ้นหลังฉีด เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หน้ามืดเป็นลม อาจเป็นการแพ้รุนแรง ซึ่งมีโอกาสเกิดได้ในทุกวัคซีนในโลก แต่เกิดขึ้นน้อยนมาก 1 ในหลายๆล้านโดส โดยพบว่า“วัคซีนโควิด-19ที่ฉีดทั่วโลกแล้วมากกว่า200 ล้านโดส ในส่วนของวัคซีนซิโนแวค และแอสตร้าฯมีอัตราแพ้รุนแรงต่ำมาก และไม่มีใครเสียชีวิต เพราะการฉีดวัคซีนให้ทำในสถานพยาบาลที่มีบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้ยาและแก้ปัญหาแพ้รุนแรงได้ทันท่วงที ทำให้มั่นใจว่าแม้แพ้รุนแรงเกิดขึ้นได้ 1 ในหลายๆล้านโดสก็มีมาตรการป้องกันได้ทันที อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกนี้ หากมีอาการทุกอย่างเกิดขึ้นไม่ว่าจะมากหรือน้อยหลังรับวัคซีนโดยเฉพาะ 7 วันแรกให้รีบปรึกษาแพทย์
รู้อย่างนี้แล้วใครที่ยังไม่ไปฉีดวัคซีนเพราะกลัวว่าจะได้รับผลกระทบเจ็บป่วยหรือเป็นอะไรไปจะลำบากก็จะได้รู้ถึงอาการที่จะเกิดขึ้น และไม่ต้องกลัวว่า จะไม่ได้รับการเยียวยาหากต้องเจ็บป่วยกันขึ้นมา ซึ่งตอนนี้ที่เชื้อโควิดกำลังระบาดหนักรอบ3 แบบที่เริ่มเห็นคนใกล้ตัวต้องกักตัวหรือติดกันบ้างแล้ว การฉีดวัคซีนเพิ่มภูมิคุ้มกันตัวเอง และประเทศชาติ จึงเป็นทางเลือกที่ดี เพราะเสี่ยงน้อยกว่าการรอคอยการติดเชื้อในที่สุด.
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news