จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ยังคงรุนแรง หลายรายที่ยังคงรอเตียงอยู่ในที่พัก จนเกิดความสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ใช้เกณฑ์อะไรในการเลือกรับผู้ป่วยเข้ารับการรักษา และมีกลุ่มไหนบ้างที่ต้องเร่งรีบนำส่งให้ถึงมือแพทย์ กลุ่มไหนที่ยังสามารถรอก่อนได้ แล้วหากเราติดเชื้อโควิด เราจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มใด ต้องรู้ไว้เพื่อที่เราจะได้สามารถจัดระเบียบและเตรียมตัวหากกรณีเราหรือคนใกล้ตัวติดโควิด-19 ขึ้นมา
โดยข้อมูลล่าสุด ข้อมูลจากกรุงเทพมหานครได้จัดกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 ออกเป็น 3 ระดับเพื่อคัดแยกผู้ป่วยและดูแลให้เหมาะสมตามอาการ ได้แก่
- ผู้ป่วยโควิด-19 “กลุ่มสีเขียว”
เป็น กลุ่มที่ไม่มีอาการ หรือ มีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ตาแดง ผื่นขึ้น ถ่ายเหลว โดยส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่จะนำส่งเข้าโรงพยาบาลสนาม และ Hospitel
Hospitel(ฮอสพิเทล) ขยายความให้อีกนิด คือ หอผู้ป่วยติดโรคโควิด-19 เฉพาะกิจ เป็นการรวมกันของคำว่า Hospital ที่แปลว่าโรงพยาบาล กับ Hotel ที่แปลว่า โรงแรม สรุปคือ โรงแรมที่จัดห้องเฉพาะให้เหมือนโรงพยาบาลไว้รองรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่แสดงอาการ
- ผู้ป่วยโควิด-19 “กลุ่มสีเหลือง”
เป็น กลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว มีความเสี่ยงหรือมีโรคร่วมที่สำคัญ เช่น
- อายุมากกว่า 60 ปี
- ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (รวมโรคปอดอื่นๆ)
- โรคไตเรื้อรัง
- โรคหัวใจและหลอดเลือด (รวมโรคหัวใจแต่กำเนิด)
- โรคหลอดเลือดสมอง
- เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
- ภาวะอ้วนที่มีน้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม
- ตับแข็ง และภูมิคุ้มกันต่ำ (เซลล์เม็ดเลือดขาวต่ำกว่า 1,000 cell/mms)
หากมีโรคใดโรคหนึ่งตามที่กล่าวมาเจ้าหน้าที่ต้องนำส่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
- ผู้ป่วยโควิด-19 ส่วน “กลุ่มสีแดง”
เป็น กลุ่มผู้ป่วยอาการหนัก มีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก X-ray พบปอดอักเสบรุนแรง มีภาวะปอดบวม มีความอิ่มตัวของเลือดน้อยกว่า 96% หรือความอิ่มตัวของเลือดลดลงมากกว่า 3% ของค่าที่วัดได้ครั้งแรกหลังออกแรง (Exercise – induced Hypoxemia) ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
ปัญหาสายด่วนโทรไม่ติด กำลังรีบแก้ไข
ส่วนปัญหาด้านการติดต่อแพทย์และสายด่วนต่างๆ กรุงเทพมหานครก็ได้ปรับปรุงและพัฒนาระบบให้รองรับการเข้าถึงของประชาชนมากขึ้น ทั้งศูนย์เอราวัณ กทม. 1669 สายด่วนกรมการแพทย์ 1668 และสายด่วน 1330 หรือแจ้งข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน Line @sabaideebot ได้อีกช่องทางหนึ่ง เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยตกค้างหรือรอคิวเป็นเวลานาน นอกจากนี้ยังปรับปรุงอื่นๆเช่น
- เพิ่มจำนวนคู่สายของสายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669
- เพิ่มเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในช่วงเวลากลางวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.00 น.
- ปรับปรุงระบบเสียงตอบรับอัตโนมัติขณะประชาชนรอสาย
- จัดระบบการรับสายใหม่ โดยรับสายพร้อมให้ประชาชนแจ้งเฉพาะชื่อและเบอร์ติดต่อเพื่อให้เจ้าหน้าที่ประสานงานกลับเพื่อลดเวลาการรอคอยของประชาชน
- สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ของกรุงเทพฯ ได้จัดรถรับ-ส่ง เพื่อสนับสนุนการรับส่งผู้ป่วยในพื้นที่ไปส่งโรงพยาบาลสนามให้เร็วยิ่งขึ้น
สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่
แบ่ง 6 โซนเพื่อเข้าถึงประชาชน
กระทรวงสาธารณสุขได้จัดโซนพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วยติดเชื้อ โดยแบ่งออกเป็น 6 โซน โดยประชาชนสามารถเข้ารับการรักษาได้ทั้งโรงพยาบาลและสถานพยาบาลขนาดเล็ก แต่หากมีอาการหนัก มีโรคประจำตัว หรือมีภาวะแทรกซ้อน จึงจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีเครื่องมือและแพทย์ที่เชี่ยวชาญ โดยโรงพยาบาลหัวหน้าทั้ง 6 โซน ประกอบด้วย
โซนที่ 1 รพ.ทั้งหมดในส่วนกลาง มีโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และ โรงพยาบาลราชวิถี เป็นหัวหน้าโซน
โซนที่ 2 โซนใต้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
โซนที่ 3 โซนเหนือ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์และโรงพยาบาลภูมิพล
โซนที่ 4 โซนตะวันออก โรงพยาบาลรามาธิบดี
โซนที่ 5 โซนโรงพยาบาลศิริราช
โซนที่ 6 โซนวชิรพยาบาล
สำหรับโรงพยาบาลหัวหน้าโซน จะช่วยดูแลโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน และรับส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ขณะที่ภาคเอกชนจะมีโรงพยาบาลในเครือขนาดใหญ่ เช่น สมิติเวช เกษมราษฎร์ กรุงเทพ ที่มีระบบดูแลโรงพยาบาลในเครือ หากมีความจำเป็น สามารถปรึกษาข้ามโซน โดยมีศูนย์บริหารจัดการเตียงโรงพยาบาลราชวิถี เป็นศูนย์กลางคอยรองรับ หรือ ติดตามข้อมูลเรื่องโควิด-19 อื่นๆได้ที่ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news