สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยยังคงรุนแรงต่อเนื่อง ซึ่งประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจอยู่ขณะนี้ คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของวัคซีนโควิด-19 ที่ถูกนำมาอ้างถึงติดต่อกันหลายสัปดาห์
รวมถึงเรื่องของวัคซีนโควิด-19 ยังเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ผู้นำฝ่ายค้าน รวมไปถึงอดีตนายกรัฐมนตรี นำมาใช้โจมตีการทำงานจนอาจสร้างกระแสทางลบให้กับการบริหารงานราชการแผ่นดินของรัฐบาลในปัจจุบันนี้อีกด้วย วันนี้ สำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น. จะพาไปรู้จักชนิดของวัคซีนที่มีอยู่ในขณะนี้, วิธีการฉีด, ประสิทธิภาพ และ ผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้ที่ได้รับวัคซีนด้วย
โดย นพ.สมชัย ลีลาศิริวงศ์ และ รศ.พญ.รวีรัตน์ สิชฌรังษี ได้เขียนข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ไว้ในบทความสุขภาพ ของเว็บไซต์รพ.พระราม 9 ซึ่งระบุว่า วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคโควิด-19ทั้งหมดในปัจจุบันมีอยู่ 4 ชนิดหลัก ๆ โดยแบ่งจากเทคนิคที่ใช้ในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้แก่
วัคซีน 4 ชนิดสู้โควิด
1.วัคซีนโควิด 19 ชนิดสารพันธุกรรม (mRNA vaccines)
เป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่เคยใช้กับการพัฒนาวัคซีนป้องกันอีโบล่า สำหรับกรณีโควิด 19 นี้ วัคซีนผลิตขึ้นจากการใช้สารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ซึ่งเมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย mRNA จะเข้าไปกำกับการสร้างโปรตีน ส่วนหนาม (Spike Protein) ของไวรัสชนิดนี้ แล้วทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสตัวนี้ออกมา ปัจจุบันมีสองเจ้าที่ใช้เทคโนโลยีนี้คือ BioNTech/Pfizer และ Moderna
2.วัคซีนโควิด 19 ชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral vector vaccines)
โดยใช้ไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ (ไม่ทำให้เราป่วย) หรือไม่สามารถแบ่งตัวได้อีก แล้วตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อใช้เป็นพาหะโดยฝากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เข้าไป ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมา วัคซีนประเภทนี้สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี เนื่องจากเลียนแบบให้ใกล้เคียงกับการติดเชื้อตามธรรมชาติ วัคซีนของ Johnson & Johnson และ Oxford – AstraZeneca รวมถึงวัคซีน Sputnik V ก็ใช้เทคนิคดังกล่าวนี้
3.วัคซีนโควิด 19 ที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein-based vaccines)
จะใช้โปรตีนบางส่วนของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เช่น โปรตีนส่วนหนาม (spike protein) แล้วนำมาผสมกับสารกระตุ้นภูมิ เมื่อฉีดเข้าไปแล้วจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมา เทคนิคนี้ใช้กันมานานแล้ว เพราะเป็นเทคนิคที่ใช้ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนตับอักเสบชนิดบี บริษัทผลิตวัคซีนที่ใช้เทคนิคดังกล่าว เช่น Novavax เป็นต้น
4.วัคซีนโควิด 19 ชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccines)
จะผลิตจากไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ที่ถูกทำให้ตายแล้วด้วยสารเคมีหรือความร้อน เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส เป็นเทคนิคที่เคยใช้กับการผลิตวัคซีนตับอักเสบเอ หรือวัคซีนโปลิโอ (ชนิดฉีด) มาแล้ว แต่เพราะต้องทำในห้องปฏิบัติการนิรภัยระดับ 3 ทำให้ผลิตได้ช้า และมีต้นทุนการผลิตที่สูง สำหรับวัคซีนที่ใช้เทคนิคดังกล่าว ได้แก่ Sinovac และ Sinopharm
อย่างไรก็ตาม พบว่า ปัจจุบันมีบริษัทหรือวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติและใช้กันแล้วในหลายประเทศ ได้แก่ Pfizer-BioNTech, Moderna, Gamaleya (Sputnik V), AstraZeneca, Sinovac, และ Sinopharm เป็นต้น โดยมีทั้งชนิดที่ได้รับอนุมัติทะเบียนอย่างสมบูรณ์และชนิดที่ได้รับอนุมัติให้ใช้กรณีฉุกเฉิน
ภาวะลิ่มเลือดอุดตันจากวัคซีน
สิ่งที่หลายคนกลัวคือภาวะลิ่มเลือดที่ออกข่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ ในส่วนของผลข้างเคียงนั้น พบว่า หลายยี่ห้อ จะมีลักษณะอาการที่เกิดขึ้นกับผู้รับวัคซีนในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยภาวะลิ่มเลือดอุดตัน พบใน 2 ยี่ห้อ คือ
- AstraZeneca
- Johnson & Johnson
โดยกรณีของ AstraZeneca สำนักงานการแพทย์ยุโรป (EMA) ประกาศว่า มีความเป็นไปได้ว่าวัคซีน AstraZeneca อาจเชื่อมโยงกันกับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ภายหลังจากที่พบว่า ผู้ป่วยบางรายเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังจากได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก และมีรายงานผู้เสียชีวิต
ส่วน Johnson & Johnson มีการพบว่ามีผู้ที่ฉีดวัคซีนตัวนี้แล้วเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน หลังได้รับวัคซีนของ Johnson & Johnson ไปประมาณ 1 สัปดาห์ (ไม่เกิน 3 สัปดาห์) ทำให้บางประเทศตัดสินใจยุติการใช้วัคซีนของ Johnson & Johnson ไป
อย่างไรก็ตาม หากเทียบสัดส่วนประชากรที่รับการฉีดแล้ว ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ต่ำมาก และเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ผู้เข้ารับการฉีดจะลดโอกาสเสียชีวิตจากโควิด 19 แล้วยังถือว่ามีประโยชน์กว่า หลายประเทศจึงสนับสนุนให้ประชาชนฉีดวัคซีนโควิด-19 ต่อไป
แพ้แบบไหนต้องรีบพบหมอ
สำหรับผู้เข้ารับการฉีดวัคซีน AstraZeneca ว่า หากมีอาการเช่น
- ปวดหัวรุนแรง
- ตาพร่ามัว
- เจ็บหน้าอก
- หายใจลำบาก
- ขาบวม
- ปวดท้องอย่างต่อเนื่อง
- มีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง
หากมีอาการดังกล่าวให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที เพราะนอกจากประเด็นเรื่องภาวะลิ่มเลือดอุดตันแล้ว มีรายงานว่า วัคซีน AstraZeneca อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงระดับรุนแรงลักษณะอื่น ๆ ได้ เช่นเป็นไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส และพบว่ามีผู้ป่วยรายหนึ่งที่มีอาการไขสันหลังอักเสบหลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่สอง แต่ยังไม่พบรายงานอาการข้างเคียงที่ร้ายแรงอันถึงแก่ชีวิต
วัคซีนที่ผ่านเฟส3ผลข้างเคียงน้อย
ส่วนกรณีวัคซีนของ BioNTech/Pfizer รายงานกล่าวว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนดังกล่าว 1 ล้านคน มีโอกาสพบผู้ที่แพ้วัคซีนอย่างรุนแรงประมาณ 4.7 คน และในสหรัฐอเมริกา ยังไม่พบผู้ที่เกิดผลข้างเคียงรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต
สำหรับ Moderna รายงานกล่าวว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนดังกล่าว 1 ล้านคน มีโอกาสพบผู้ที่แพ้วัคซีนอย่างรุนแรงประมาณ 2.5 คน และตอนนี้ ในสหรัฐอเมริกายังไม่พบผู้เสียชีวิตโดยตรงจากการฉีดวัคซีน
และ สุดท้าย คือ Sinovac, Novavax และ Sputnik V จากการศึกษาในเฟสที่ 3 ยังไม่พบรายงานว่ามีผู้ที่เกิดอาการข้างเคียงร้ายแรง
คนไทยฉีดซิโนแวคปากเบี้ยวรักษาได้
ในส่วนของไทย ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า พบผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนโควิด-19 ซิโนแวค ซึ่งอาการที่พบเป็นอาการคล้ายคลึงกับโรคระบบทางเดินทางสมอง โดยมีอาการชาครึ่งซีก มีอาการอ่อนแรงทางร่างกาย มีอาการพูดไม่ชัด ปากเบี้ยวในบางราย มีหนึ่งรายที่พบแค่อาการชา โดยหลังจากมีอาการแล้วทั้งหมด แพทย์ได้ให้การรักษาและทั้งหมดกลับมามีอาการปกติได้ภายในไม่กี่วัน โดยในรายที่ช้าที่สุดคือ 3 วัน และมีการให้ยาละลายลิ่มเลือด นอกจากนี้ พบว่า อาการที่พบนั้นเกิดขึ้นกับสตรี อายุไม่มาก ซึ่งไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรค Stroke มาก่อน ดังนั้นโดยรวม ๆ ของผู้ที่มีอาการนั้น เป็นอาการคล้ายกับระบบประสาท หรือ Stroke และคาดว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน ซึ่งเกิดขึ้นภายใน 5-30 นาทีหลังจากฉีดวัคซีน
อย่างไรก็ตาม แม้จะพบว่าวัคซีนโควิด 19 หลายตัวอาจพบกรณีที่เกิดอาการข้างเคียงรุนแรง แต่ก็ยังถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำ เมื่อเทียบกับจำนวนผู้เข้ารับการฉีดทั้งหมด และแม้ว่าจะมีรายงานเรื่องการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน แต่หลายหน่วยงานด้านสาธารณสุขระดับโลก ยังคงสนับสนุนให้เดินหน้าฉีดวัคซีนดังกล่าวอยู่ เพราะเมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว การให้ฉีดวัคซีนจะมีประโยชน์มากกว่าให้ยุติการใช้ไปเลย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news