“จุรินทร์”รอ”ชวน”กำหนดเดินหน้าประชุมสภาต่อหรือไม่
“จุรินทร์” รอ ประธานสภากำหนดประชุมสภาเดินหน้าต่อหรือไม่ หลังศบค.ออกมาตรการเพิ่มเติม
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ได้ออกมาตรการที่อาจส่งผลกระทบต่อการประชุมกรรมาธิการของสภา และอาจกระทบต่อการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ว่า
เรื่องนี้ต้องเป็นไปตามกฎที่ผู้มีหน้าที่เป็นผู้กำหนด อย่างไรก็ตามในการที่จะดำเนินการในสภาต่อไปอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภา และวิปทั้ง 3 ฝ่าย ที่จะต้องคุยกันว่าจะดำเนินการอย่างไร สำหรับในส่วนของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี หากไม่มีการประชุม หรือยังไม่สามารถที่จะประชุมคณะกรรมาธิการได้ ก็จะมีผลกระทบในแง่ของเงื่อนเวลา เพราะตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า เมื่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ได้ส่งถึงรัฐสภาแล้ว สภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณาให้เสร็จสิ้นภายใน 105 วัน ซึ่งขณะนี้ถือว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ได้ส่งถึงสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ดังนั้นในเงื่อนเวลา 105 วันนี้ ได้เริ่มนับหนึ่งแล้ว หากผ่านวาระที่ 1 และไปสู่วาระที่ 2 ของการตั้งกรรมาธิการ แล้ว หากกรรมาธิการไม่สามารถประชุมได้ ก็จะมีผลกระทบในเรื่องเงื่อนเวลาการทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร
ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่วิปจะต้องพิจารณาร่วมกัน ทั้งในส่วนของวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภาว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะหลังจากผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว วุฒิสภาก็มีเงื่อนเวลาที่จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 20 วัน ซึ่งกำกับไว้ด้วยตามรัฐธรรมนูญ
ส่วนหากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ จะต้องสะดุดและหยุดลงจะส่งผลกระทบต่อประเทศอย่างไรนั้น หรืออาจต้องเลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน นายจุรินทร์ระบุว่า ตนไม่ทราบว่าจะสามารถเลื่อนออกไปได้หรือไม่ เพราะขณะนี้ถือว่า เท่าที่ตนติดตามจากเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ตอบว่าขณะนี้ถือว่า พ.ร.บ.งบประมาณได้ส่งถึงสภาแล้ว เมื่อวันที่ 17 พ.ค. เพราะฉะนั้นในเงื่อนเวลา 105 วัน ได้นับหนึ่งแล้ว ดังนั้นจะกระทบมากน้อย กระทบ หรือไม่กระทบนั้น คิดว่าวิปต้องรีบประชุม และต้องรีบหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไร ถ้าหากไม่สามารถประชุมกรรมาธิการได้ หรือ กรรมาธิการจะต้องเร่งรัดทำให้เสร็จเร็วเป็นพิเศษ เพราะเวลา 105 วันได้บังคับอยู่ว่านับหนึ่งจากวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา
ทั้งนี้จากการสอบถามของสื่อถึงความเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ที่เกี่ยวกับการจัดงบประมาณเพื่อรองรับการแก้ปัญหาโควิดนั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ความจริงก็มีอยู่ในนั้นส่วนหนึ่ง ซึ่งขอให้ผู้ที่มีหน้าที่ได้แจกแจงรายละเอียดในสภา เมื่อถึงเวลาที่มีการอภิปราย นอกจากนั้นยังมีเงินกู้อีกก้อนหนึ่ง หรือเงินกู้เดิมที่ยังเหลืออยู่จำนวนหนึ่งก็สามารถที่จะนำมาใช้ในการคลี่คลายสถานการณ์โควิด และเศรษฐกิจควบคู่กันไปได้ด้วย
ส่วนที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการที่รัฐบาลเตรียมออก พ.ร.ก. กู้เงิน 7 แสนล้านบาทที่สื่อได้สอบถามนั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า เรื่องนี้ตนได้เคยให้ความเห็นไปแล้ว ว่ารัฐบาลต้องพิจารณาความจำเป็นทั้งสองด้าน ทั้งในด้านการแก้ปัญหาโควิด และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจควบคู่กันไป เพราะทั้งสองปัญหานี้เป็นเงื่อนปัญหาที่เราจะต้องพาประเทศให้ผ่านพ้นไปให้ได้ ซึ่งเงินกู้ที่จะมีการดำเนินการนั้นจะต้องมุ่งเน้นในเรื่องของการแก้ปัญหาทั้งสองส่วนไปด้วยกัน
“จุรินทร์”ลงพื้นที่เขตลาดพร้าว มอบถึงยังชีพ บรรเทาทุกข์ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกับนายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร และนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลงพื้นที่ช่วยประชาชนยังชีพโดยมูลนิธิ หม่อมราชวงศ์เสนี ปราโมทย์ โดยนายจุรินทร์ และคณะลงพื้นที่เขตลาดพร้าว มอบถุงยังชีพ เพื่อบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ณ หมู่บ้านเสนานิเวศน์ โครงการ 2 เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร
โดยนายสรรเสริญ กล่าวว่า ถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวลาดพร้าวที่วันนี้ที่นายจุรินทร์ ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเขตลาดพร้าวและวังทองหลาง ตั้งแต่วิกฤตโควิดเป็นต้นมาทั้ง 2 เขต เป็นเขตที่ได้รับผลกระทบอย่างสูงโดยเฉพาะในบรรดา 50 เขตทั้งหมด ซึ่งเขตลาดพร้าวมียอดผู้ป่วยสะสมเป็นลำดับที่ 5 ในกรุงเทพมหานคร และเขตวังทองหลางมียอดผู้ป่วยสะสมเป็นอันดับที่ 8 ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งนับว่าเยอะมากต้องขอขอบคุณนายจุรินทร์ ประธานมูลนิธิหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ที่ยื่นมือเข้ามาเยียวยาช่วยเหลือชาวลาดพร้าวและวังทองหลาง
ด้านนายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้ตนมาในฐานะหัวหน้ามูลนิธิหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นำพรรคประชาธิปัตย์ มาช่วยบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนในเขตลาดพร้าวและวังทองหลาง โดยได้นำถุงยังชีพจำนวนหลายร้อยชุดมามอบผ่านผู้แทนหรือประธานชุมชนและนำไปมอบให้กับผู้ที่ได้รับการคัดเลือกแล้วว่ามีความเดือดร้อนที่จำเป็นจะต้องได้รับการช่วยเหลือเท่าที่มูลนิธิฯสามารถทำได้ รวมถึงนำข้าวกล่องมามอบให้ซึ่งเป็นไปตามโครงการข้าวกล่องเดลิเวอรี่ 40,000 กล่องส่งตรงถึงบ้าน เพื่อนำไปมอบให้กับผู้ที่จำเป็นต้องกักตัวอยู่ที่บ้านและไม่สามารถที่จะเดินทางออกมาซื้ออาหารข้างนอกรับประทานได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news