Home
|
ข่าว

“วิรัช”ยันเดินหน้าประชุมสภาถกพรก.2วันแล้ว

Featured Image
ประธานวิปรัฐบาล ยัน เดินหน้าประชุมสภา ถก พรก. 2 วัน พิจารณาร่าง พรบ.งบ65 ตามกรอบ แม้สถานการณ์โควิดยังรุนแรง เน้นหามาตรการป้องกัน

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ร่วมประชุมวิป 3ฝ่ายตัวแทนฝ่ายค้านรัฐบาลและประธานสภา ยืนยัน เดินหน้าประชุมสภาผู้แทนราษฎรโดย จะใช้เวลา 2 วันในการพิจารณาพระราชกำหนด 2 ฉบับ วันที่ 27 พ.ค. ตั้งแต่ 09:30 น. ถึง 24:00 น. และวันที่ 28 พ.ค. แบ่งเวลาฝ่ายละ 9 ชั่วโมง โดยในส่วนของรัฐบาล รวมเวลาให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยชี้แจงด้วย ส่วนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 เป็นไปตามกำหนดเวลาเดิม 31 พ.ค.-2 มิย.

ทั้งนี้ ทุกอย่างยังต้องเดินหน้าแต่จะต้องหามาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าหรือ covid-19 ซึ่งเมื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในวาระแรกเสร็จแล้ว ในชั้นกรรมาธิการฯ คงไม่มีปัญหา เนื่องจากได้มีการเตรียมห้องประชุมคณะกรรมาธิการและสถานที่ต่างๆ สำหรับผู้มาชี้แจงไว้หมดแล้ว

ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านประกาศไม่รับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 นั้น ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติ ที่ฝ่ายค้านก็มักจะอภิปรายไม่เห็นด้วย แต่รัฐบาลก็จะทำหน้าที่ในส่วนของรัฐบาล ถือเป็นหน้าที่ของแต่ละฝ่าย หากสงสัยประเด็นใด รัฐบาลก็จะต้องชี้แจง ซึ่งรัฐบาลได้พิจารณารายละเอียดอย่างถี่ถ้วน และไม่มีการแอบงบประมาณ 7 แสนล้านบาทไว้ที่กองทัพ แต่เป็นความจำเป็นที่จะต้องดูแลพื้นที่ชายแดน

ซึ่ง ณ วันนี้ ต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดของ covid 19 ส่วนหนึ่งก็เข้ามาจากการลักลอบตามแนวชายแดน จึงจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณไปดูแล โดยมีประมาณ 200-300 ล้านบาท ไม่ใช่ 7 แสนล้านบาท ตามที่มีการกล่าวอ้าง

 

ที่ประชุมวิป 2 ฝ่าย ไม่เลื่อน ดันประชุมสภาฯ เดินหน้าถกร่างงบฯปี 65 วิปรัฐบาล ยัน อภิปรายเนื้อหาเป็นประโยชน์ ชี้ให้เห็นความสำคัญการใช้จ่ายงบ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาล

ดร.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม.เขต 2 ในฐานะวิปรัฐบาล เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร มีมติให้เดินหน้าประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มข้น โดยจะใช้เวลา 2 วันในการพิจารณาพระราชกำหนด 2 ฉบับ ที่คณะรัฐมนตรีเสนอเข้ามา

คือ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 และพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือ และฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 ในวันที่ 27 พฤษภาคม ตั้งแต่ 09:30 น. ถึง 00.30 น. และวันที่ 28 พฤษภาคม 09.00 ถึง 14.30 โดยประมาณ แบ่งเวลาฝ่ายละ 9 ชั่วโมง โดยในส่วนของรัฐบาล รวมเวลาให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้แจงด้วย

ส่วนวันพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 คือระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2564 ทั้งนี้ ได้กำหนดกรอบเวลาการอภิปราย ทั้งหมด 47 ชั่วโมง 30 นาที ประธาน 3 ชั่วโมง 30 นาที ฝ่ายรัฐบาล 22 ชั่วโมง และฝ่ายค้าน 22 ชั่วโมง

นางสาวพัชรินทร์ ย้ำว่า ในส่วนของฝ่ายรัฐบาล เน้นย้ำการอภิปราย ด้วยข้อมูลที่เป็นเป็นประโยชน์ ให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่เข้าสู่สภา และพ.ร.ก. 2 ฉบับ ซึ่งมีความสำคัญ เกี่ยวกับการปรับลดเงื่อนไขลูกหนี้ และการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบในสถานการณ์โควิด-19 นี้

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

 

โฆษก ปชป. เห็นด้วย พรก.แก้เรื่องดอกเบี้ย ป้องกัน ประชาชนถูกเอาเปรียบ เชื่อ สภา อนุมัติ

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึง การเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฏร ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ที่จะถึงนี้ว่า มีระเบียบวาระการประชุมที่น่าสนใจคือการพิจารณา เรื่องด่วนพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ พ.ศ.2564 ที่มีการแก้ไขในเรื่องอัตราดอกเบี้ย เพื่อป้องกันมิให้เจ้าหนี้เรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ในอัตรา หรือด้วยวิธีการที่ก่อให้เกิดภาระแก่ลูกหนี้สูงเกินสมควร โดยสาระสำคัญของการแก้ไขต้องยอมรับว่า เป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบโดยได้ อีกทั้งมีการแก้ไขโดยเพิ่มมาตรา 224/1 กรณีที่ลูกหนี้มีหน้าที่ผ่อนชำระหนี้เงินเป็นงวดและลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ในงวดใดเจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยระหว่างเวลาผิดนัดได้เฉพาะต้นเงินของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัด

ทั้งนี้ โดยส่วนตัวสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าว เพราะกฎหมายเดิมใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานานมากแล้ว ไม่ได้มีการแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาวะและสภาพเศรษฐกิจทำให้ประชาชนที่เป็นลูกหนี้ได้รับความเดือดร้อนจากภาระดอกเบี้ยที่คิดเกินสมควรเป็นอย่างมาก

ดังนั้น การปรับปรุงอัตราดอกเบี้ย และวิธีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันเพื่อให้เกิดความเหมาะสม และที่สำคัญ ขณะนี้ มีการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมากประชาชนจำนวนมากมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น

อัตราดอกเบี้ย ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันก่อให้เกิดภาระอย่างมากต่อลูกหนี้ หากไม่มีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยก็จะเกิดความเสี่ยงสูงที่จะทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวโดยออกเป็นพระราชกำหนดและนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเป็นเรื่องด่วน เรื่องแรกเชื่อว่าสมาชิกรัฐสภาจะอนุมัติพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว เพราะเป็นประโยชน์และเป็นธรรมต่อประชาชนโดยทั่วกัน

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube