สว.มีมติ 201 เสียง ไฟเขียวอนุมัติ พ.รก.ลดดอกเบี้ย
วุฒิสภา มีมติ 201 เสียง ไฟเขียวอนุมัติ พ.ร.ก.ลดดอกเบี้ย ขณะสมาชิก ตั้งข้อสังเกต ยังไม่กำหนดเงื่อนไขชัดเจน อาจเป็นช่องว่างเรียกเก็บดอกเบี้ยที่สูงขึ้นได้
ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนนเสียง 201 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 5 เสียง โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ย้ำว่า เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เจ้าหนี้คำนวณอัตราดอกเบี้ยจากลูกหนี้ในอัตราหรือวิธีการที่ก่อให้เกิดภาระแก่ลูกหนี้สูงเกินสมควร โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้ลูกหนี้ได้รับความเดือดร้อนจากภาระดอกเบี้ยที่สูงเกินสมควร
ด้านนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ระบุว่า ในพระราชกำหนดฉบับนี้ยังไม่มีการกำหนดเงื่อนไขของการใช้เหตุอย่างอื่น เพื่อเรียกดอกเบี้ยให้ชัดเจน ดังนั้น จะทำให้เจ้าหนี้อาจใช้ช่องว่างดังกล่าว ทำข้อตกลง เพื่อเรียกเก็บดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นได้
ขณะนายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา สนับสนุนพระราชกำหนดฉบับนี้ พร้อมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการกำหนดอัตราดอกเบี้ย เพราะจะทำให้บุคคลหันไปทำสัญญากับฝ่ายที่มีการกำหนดดอกเบี้ยที่ชัดเจน ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณไปถึงคู่สัญญาว่าต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้ชัดเจน แต่ในทางตรงกันข้ามถือว่าสิทธิตามกฎหมายยังไม่เป็นจริง และรัฐอาจนำมาเป็นเงื่อนไขในอนาคตได้
นอกจากนี้ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติอนุมัติพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติอนุมัติแล้ว ด้วยคะแนน 173 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงสาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยมีมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ สินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. จะให้สถาบันการเงินกู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01% เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กู้ยืมตามที่กำหนด ในวงเงินไม่เกิน 2.5 แสนล้านบาท
สำหรับมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินเป็นหลักประกันเพื่อชำระหนี้ผ่านโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ในวงเงินไม่เกิน 1 แสนล้านบาท ยืนยันว่า จะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ ไม่ให้ถูกเปลี่ยนสถานะเป็นลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ นำไปสู่การเลิกกิจการถาวร และการถูกยึดทรัพย์ อีกทั้ง ป้องกันไม่ให้ทรัพย์สินของลูกหนี้ ถูกขายทอดตลาดในราคาต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับลูกหนี้ และสามารถเข้าถึงสภาพคล่องจากแหล่งทุนในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news