ครม. เห็นชอบ ร่างแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2564-2570 ประกอบด้วย 7 ยุทธศาสตร์
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบ ร่างแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2564-2570 นับเป็นช่วงวัยที่สำคัญให้เด็กเป็นคนเก่งคนดีมีความสุข โดยได้ดำเนินการกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือ อปท. นำร่างพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็น กรอบแนวทางพัฒนาคุณภาพการดูแลบริการและจัดการศึกษาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ซึ่งร่างแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยประกอบด้วย 7 ยุทธศาสตร์คือการจัดการและการให้บริการแก่เด็กปฐมวัย, การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัวและอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย, พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานให้บริการเด็กปฐมวัย, พัฒนาระบบและกลไกบูรณาการสารสนเทศและการนำไปใช้ประโยชน์, จัดทำและปรับปรุงการจัดทำกฎหมาย, การวิจัยและพัฒนาการเผยแพร่องค์ความรู้ และการบริการประสานดำเนินงานและการติดตามผล
ศาลล้มละลายกลางเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย มอง เห็นโอกาสสำเร็จ ขณะ ผู้บริหารแผน ขอให้เชื่อมั่น ในฐานะสายการบินแห่งชาติ
วันนี้ (15 มิถุนายน 2564) ศาลล้มละลายกลางได้กำหนดนัดฟังคำสั่งศาลในการพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย ซึ่งหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางได้รับคำคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้จำนวน 2 ฉบับ คำชี้แจงของผู้ทำแผน ตลอดจนความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในประเด็นต่าง ๆ แล้ว ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการและแผนที่แก้ไขตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ซึ่งมีผลให้ผู้บริหารแผนที่ถูกเสนอชื่อตามแผนฟื้นฟูกิจการและแผนที่แก้ไข กล่าวคือ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายพรชัย ฐีระเวช นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ นายไกรสร บารมีอวยชัย และ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้บริหารแผนซึ่งจะมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารธุรกิจของบริษัทฯ และดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป
บริษัทฯ ขอขอบคุณศาลล้มละลายกลาง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี เจ้าหนี้ ลูกค้า คู่ค้า ผู้ทำแผนทั้ง 7 ท่าน และพนักงานทุกคนที่มีส่วนทำให้แผนฟื้นฟูกิจการได้รับความเห็นชอบ มอบโอกาสให้การบินไทยสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ผู้บริหารแผนและพนักงานทุกคนพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้แผนฟื้นฟูกิจการประสบความสำเร็จ และเพื่อประโยชน์สูงสุดของเจ้าหนี้ทุกราย และขอให้เจ้าหนี้และลูกค้าของการบินไทยเชื่อมั่นว่าการบินไทยพร้อมที่จะกลับมาดำเนินธุรกิจและให้บริการ เพื่อกลับมาเป็นองค์กรที่สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถสร้างความภาคภูมิใจแก่ประเทศไทยและคนไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติ ที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศต่อไป
ครม.เห็นชอบ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือน สังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 2 ราย
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้ คือ นายอภิชาติ ดำรงไชย นายแพทย์เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลสวนปรุง กรมสุขภาพจิต ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย.63 และนางปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนัก สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ให้ดำรงตำแหน่ง ทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.64 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
ครม.มติแต่งตั้ง “จันทิรา” เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน แทนตำแหน่งว่าง
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้ง นางจันทิรา บุรุษพัฒน์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน แทนตำแหน่งที่ว่าง ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.64 เป็นต้นไป และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการ
ครม.เห็นชอบรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมปี 63 จำนวน 11 สาขา เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น 7 สาขา
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี เห็นชอบรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมปี63 จำนวน 11 สาขา ซึ่งมีสาขาที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น 7 สาขา ได้แก่ ทรัพยากรดินและการใช้ที่ดิน พบว่ามีพื้นที่เพาะปลูกเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น, ทรัพยากรแร่ การผลิตและการใช้แร่ลดลง, พลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น, ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงเพิ่มขึ้น, ความหลากหลายทางชีวภาพ พื้นที่ชุ่มน้ำที่ขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น, สิ่งแวดล้อมชุมชน อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้น และสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม สถานภาพแหล่งธรรมชาติที่ควรอนุรักษ์ไว้ส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี
ขณะที่การคาดการณ์แนวโน้มอนาคต มีเรื่องที่สำคัญ คือ ปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง และปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน แนวทางแก้ไข ต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ ให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ โดยมีหน่วยงานภาครัฐเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการกำหนดกลยุทธ์ การจัดทำแผนหลักและแผนปฏิบัติการ มีพื้นที่ที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ ลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ขณะเดียวกันปัญหาการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา ได้แก่ การมีพลาสติกเป็นองค์ประกอบของขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นจากการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์และสั่งซื้ออาหารแบบเดลิเวอรี่ รวมถึงมีมูลฝอยติดเชื้อจากผู้ที่ต้องสังเกตอาการและผู้ที่ติดเชื้อปะปนในขยะมูลฝอยชุมชน มีแนวทางแก้ไขปัญหา เช่น การปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ส่วนกรณีการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ควรมีการคำนึงถึงการลดปริมาณขยะมูลฝอยและคัดแยกขยะที่ต้นทาง
และพิจารณาคัดแยกมูลฝอยติดเชื้อใส่ถุงขยะ 2 ชั้น มัดปากถุงให้แน่นและระบุข้อความว่า “ถุงขยะสำหรับหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว”ไว้ที่ถุงให้ชัดเจน และส่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี โดยมีพื้นที่ดำเนินการเร่งด่วน ได้แก่ พื้นที่เขตเมืองในทุกจังหวัด ชุมชนแออัด พื้นที่สาธารณะที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก
ครม.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 64 จำนวน งบกลาง3,248.52 ล้านบาทสนับสนุนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ครม.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 3,248.52 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง และเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือสำหรับสนุนการจัดการน้ำในฤดูฝน รวม 2,854 รายการ ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. เสนอโดยมี 5 กระทรวงและ 7 หน่วยงาน เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการดังนี้
1กรมชลประทาน วงเงิน 1,202.42 ล้านบาท จำนวน 44 รายการ เช่น การขุดลอกฝาย, ห้วย, อ่างเก็บน้ำ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ จัดหาเครื่องสูบน้ำ , กรมทรัพยากรน้ำ วงเงิน 48.36 ล้านบาท จำนวน 4 รายการ เช่น การปรับปรุงซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำ การก่อสร้างระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์, กรมทรัพยากรน้ำบาดาล วงเงิน 1,447.65 ล้านบาท จำนวน 2,195 รายการเช่น การฟื้นฟูสภาพบ่อน้ำบาดาล โครงการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น, จังหวัด วงเงิน 227.92 ล้านบาท จำนวน 395 รายการ เช่น การขุดลอกคลอง/สระ/อ่างเก็บน้ำ การปรับปรุงแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร การขุดเจาะบ่อบาดาล, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น วงเงิน 176.59 ล้านบาท จำนวน 212 รายการ เช่น การก่อสร้างคลองส่งน้ำ การขุดเจาะบ่อบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์ การก่อสร้างระบบผลิตเพิ่มประสิทธิภาพน้ำประปา, สทนช. วงเงิน 115.01 ล้านบาท จำนวน 2 รายการ คือ การจัดหาครุภัณฑ์ประกอบพร้อมระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และหน่วยอำนวยการติดตามคาดการณ์สถานการณ์น้ำเคลื่อนที่ในภาวะเข้าใกล้วิกฤต และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา วงเงิน 30.57 ล้านบาท จำนวน 2 รายการ คือ การขุดลอกแหล่งน้ำ และการซ่อมทางผิวจราจรลาดยาง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news