Home
|
ข่าว

“สมพงษ์”นำเสนอหลักการ-เหตุผลร่างแก้รธน.ฝ่ายค้าน

Featured Image
“สมพงษ์” นำเสนอหลักการและเหตุผลร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ร่างในส่วนของพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมฝ่ายค้านต่อที่ประชุมรัฐสภา

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้าน นำเสนอหลักการและเหตุผลในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 4 ร่างในส่วนของพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมฝ่ายค้านต่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในการพิจารณาญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าสืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ได้มีการบังคับใช้มาระยะหนึ่งแล้ว แต่กลับมีบทบัญญัติหลายมาตราที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพ หลายเรื่องยังขาดความชัดเจนและยังมีปัญหาได้แก่สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ทำให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติ ทั้งสิทธิในการปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา รวมทั้งสิทธิในกระบวนการยุติธรรมกรณีอื่นๆ เสรีภาพในการรวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมืองก็ยังขาดสาระสำคัญทำให้กฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ตราขึ้นบังคับใช้มีบทบัญญัติที่จำกัด และการดำเนินการของพรรคการเมืองอย่างเป็นอุปสรรค และเป็นภาระของพรรคการเมืองเกินความจำเป็น สิทธิในการเข้ารับบริการด้านสาธารณสุข

ดังนั้นเพื่อให้บทบัญญัติที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มีความชัดเจนและเกิดการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมมีกลไกในการต่อต้านการทำรัฐประหารไว้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มีระบบการถ่วงดุลที่เหมาะสมจึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้

 

เพื่อไทยทำหนังสือถึงประธานสภาขอทบทวนร่างแก้ รธน. ม.256 “ชลน่าน” ยืนยัน เป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติม ไม่ได้ต้องการยกเลิก รธน. 60

นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยทำหนังสือถึงประธานรัฐสภาขอให้ทบทวนการบรรจุร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังได้รับชี้แจงจากฝ่ายกฎหมายของสภาว่า ร่างที่พรรคเพื่อไทยเสนอนั้นไม่ใช่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมจึงไม่สามารถบรรจุในวาระได้ โดยหยิบยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาประกอบ ซึ่งพรรคเพื่อไทยเห็นว่าร่างที่ยื่นเป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติม แม้จะเพิ่มหมวด15/1 แต่ก็เป็นเพียงวิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เท่านั้น ไม่ได้ต้องการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และการยื่นร่างแก้ไขนี้มองว่ากระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีอำนาจในรัฐธรรมนูญให้ทำได้ ซึ่งขณะนี้ รัฐธรรมนูญ ปี 60 ไม่มีการญัตติในเรื่องนี้ ดังนั้น ยืนยันว่า ร่างนี้เป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งหากได้วิธีการแล้วก็ไปดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป

นอกจากนี้ ยังอยากให้ประธานรัฐสภาทบทวนบรรจุร่างดังกล่าวเข้าสู่วาระ เพราะอยากให้สมาชิกพิจารณาร่วมกันว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร เพื่อให้เป็นมติร่วมกัน และเพื่อให้เป็นสารตั้งต้นในการทำประชามติ แม้ที่ประชุมจะผ่าน พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติแล้วก็ตาม แต่การจะขอเสนอทำประชามตินั้นไม่สามารถเป็นมติเดียวกันจากทั้งสองสภา ทำได้แค่แยกการประชุม หาก ส.ส. เห็นด้วย แต่ ส.ว. ไม่เห็นด้วยกับการเสนอทำประชามติก็จะตกไป จึงเห็นว่า ถ้าเสนอร่างเสนอแก้ไขตามมาตรา 256 สู่ที่ประชุมร่วมก็จะเปิดทางให้ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกัน

ส่วนการทำประชามติตามกฎหมายจะต้องทำอย่างน้อย 3 ครั้ง ซึ่งเห็นว่าการทำเช่นนี้จะทำให้เสียงบประมาณโดยใช่เหตุ ดังนั้น ควรรวบขั้นตอนการทำประชามติครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 ไปพร้อมกัน ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณได้ถึง 3,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันการที่ยื่นร่างแก้ไข มาตรา 256 นี้ เพราะไม่อยากให้เป็นทางตันในการแก้ไขมาตราดังกล่าวในอนาคต ส่วนผลการพิจารณาขึ้นอยู่กับที่ประชุมร่วมรัฐสภา

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube