“ไพบูลย์” นัดถก กมธ. แก้ รธน. 27 ก.ค. นี้
“ไพบูลย์” นัดถก กมธ.แก้ รธน. 27 ก.ค. นี้ คาดชงรัฐสภาพิจารณาวาระ 2 ปลาย ส.ค. นี้ – มั่นใจผ่านฉลุย ไม่คว่ำ
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ของรัฐสภา เปิดเผยถึงแนวทางการพิจารณาแก้ไขระบบการเลือกตั้ง ของกรรมาธิการฯ หลังต้องงดการประชุม 2 สัปดาห์ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า จะมีการประชุมอีกครั้ง ในวันอังคารที่ 27 กรกฎาคมนี้ และ 30 กรกฎาคม พร้อมยืนยันว่า การงดการประชุมดังกล่าว จะไม่กระทบต่อกรอบการพิจารณาของกรรมาธิการ ที่ตั้งใจจะเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาต่อในวาระที่ 2 ในช่วงเดือนสิงหาคม เพราะกรรมาธิการฯ จะพิจารณาปรับแก้ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ โดยว่า ที่ประชุมรัฐสภา จะสามารถพิจารณาในวาระที่ 2 ได้ ปลายเดือนสิงหาคมนี้ หลังสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2565 ในวาระ 2 และ 3 ช่วงกลางเดือนสิงหาคมเสร็จสิ้น จากนั้น เมื่อพิจารณาวาระที่ 2 แล้วเสร็จ จะต้องเว้นการพิจารณาไว้ 15 วัน ก่อนลงมติในวาระที่ 3 ในช่วงกลางเดือนกันยายนนี้ ซึ่งยังคงอยู่ในสมัยประชุม
ส่วนจะมีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความใด ๆ เพิ่มเติมอีกหรือไม่นั้น นายไพบูลย์ ชี้แจงว่า ภายหลังการลงมติในวาระที่ 3 เสร็จสิ้น จะเป็นขั้นตอนที่นายกรัฐมนตรี จะต้องนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งระหว่างนั้น ส.ส. และ ส.ว. ยังสามารถเข้าชื่อกัน เพื่อขอส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยได้ แต่เท่าที่พิจารณาในขณะนี้ คือ ยังไม่มีประเด็นที่เข้าองค์ประกอบที่รัฐธรรมนูญ เปิดช่องไว้ให้ยื่นศาลตีความ ที่จะต้องเกี่ยวข้องกับอำนาจองค์กรอิสระ การดำรงตำแหน่งต่าง ๆ แต่การแก้ไขระบบการเลือกตั้ง ไม่ได้อยู่ในองค์ประกอบในมาตรา 256 ( 8 ) จึงไม่สามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ และมั่นใจว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะได้ดำเนินการตามขั้นตอน ส่วนพรรคการเมืองใดจะมองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เกินหลักการ ก็เป็นเรื่องของพรรคการเมืองนั้น
ขณะเดียวกัน นายไพบูลย์ ยังมั่นใจว่า การลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ จะผ่านการพิจารณาแบบฉลุย เพราะมีพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากอย่างน้อย 3 พรรคการเมือง ทั้งพรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ สนับสนุนการแก้ไขระบบการเลือกตั้งในครั้งนี้ ซึ่งมีเสียงรวมกันแล้วประมาณ 300 เสียง ส่วนเสียงของวุฒิสภา ที่จะต้องมีมากกว่า 1 ใน 3 หรือมากกว่า 83 เสียง ซึ่งในวาระแรกขั้นรับหลักการ วุฒิสภา ก็สนับสนุน 210 เสียง ดังนั้น ในวาระที่ 3 ก็น่าจะเกิน 1 ใน 3 อยู่แล้ว นอกจากนั้น ในการลงมติวาระที่ 3 ยังจะต้องมีเสียงสนับสนุนจากฝ่ายค้าน ร้อยละ 20 หรือประมาณ 40 กว่าคน ซึ่งหากพรรคเพื่อไทยเห็นชอบ ก็จะผ่านเกณฑ์ดังกล่าว จึงมั่นใจว่า จะได้รับเสียงเห็นชอบจากรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่ง และครบหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 กำหนด และผ่านการพิจารณาแบบฉลุยแน่นอน ไม่คว่ำ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news