Home
|
ข่าว

เลขาสมช.วอนปชช.งดเดินทางหากไม่จำเป็น-ขอWFH

Featured Image
เลขา สมช. ขอ ปชช. งดเดินทางหากไม่จำเป็น พร้อมขอความร่วมมือภาคเอกชนพื้นที่สีแดงเข้ม WFH ย้ำหากการระบาดไม่ลดลงทาง ศบค. เตรียมรับมือไว้ทุกสถานการณ์แล้ว

พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ผอ.ศปก.ศบค. ชี้แจงถึงมาตรการเคอร์ฟิว ระหว่างเวลา 21.00-04:00 น. ของวันรุ่งขึ้นเป็นการบังคับสั่งห้าม ส่วนช่วงนอกเวลาเคอร์ฟิวยังคงจำเป็นต้องเว้น ในบางกิจการหรือกิจกรรม เพราะฉะนั้นในช่วงนี้จำเป็นต้องใช้ คำว่า”ให้” ไปก่อน โดยขอให้งดหรือหลีกเลี่ยง เพราะมาตรการนี้ต้องเข้มข้นต่อไป คงจำเป็นต้องใช้คำว่า “ห้าม” และเมื่อ ใช้คำว่า “ห้าม” จะมีบางกิจกรรมหรือกิจการที่ได้รับการยกเว้นน้อยกว่านี้มาก

ขณะที่ข้อกำหนดการเปิดสถานพยาบาล รวมถึงโรงพยาบาลสัตว์นั้น เนื่องจากเป็นในแง่มนุษยธรรม ถือว่าเป็นกิจการด้านสาธารณสุข ซึ่งในปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่มีสัตว์เลี้ยงที่อยู่ในความดูแล และคนมีความผูกพันกับสัตว์เมื่อสัตว์ป่วยไม่สบาย ก็ถือว่ามีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล

ส่วนมาตรการที่มีการบังคับใช้ในวันที่ 20 ก.ค. 64 นี้ ในพื้นที่สีแดงเข้ม การขอความร่วมมือภาคเอกชนในการทำงานที่บ้านหรือ work from home นั้น เป็นการออกมาตรการขอความร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดทางนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.ได้ชี้แจงไปในช่วงกลางวันที่ผ่านมาแล้ว ขณะที่การประเมินสถานการณ์และการปรับแผนรองรับหากสถานการณ์การแพร่ระบาดนั้นไม่ลดลง ทาง ศบค. และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ได้มีการเตรียมการทุกสถานการณ์ไว้แล้ว หากเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจะทำอย่างไร หรือหากสถานการณ์ไม่ดีไปกว่านี้จะทำอย่างไร

 

เลขาสมช. โยน สธ.พิจารณาอู่ฮั่นโมเดล ยืนยัน ศบค. มีความพร้อมไม่ว่าจะอยู่ในกรณีใด ย้ำการฟลูล็อกดาวน์ไม่ได้มองที่ตัวเลข

พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ผอ.ศปก.ศบค.) กล่าวถึงแนวคิดโมเดลอู่ฮั่น ว่า เป็นข้อพิจารณาจากกระทรวงสาธารณสุข โดยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้มีการพูดถึง และเมื่อถึงเวลานั้นแล้วคงต้องฟังกระทรวงสาธารณสุขว่าจะมีการประเมินอย่างไรจำเป็นต้องใช้อู่ฮั่นโมเดลหรือไม่ ซึ่งทาง ศบค. มีความพร้อมไม่ว่าจะอยู่ในกรณีใด

ส่วนจะมีการฟลูล็อกดาวน์หรือไม่ พล.อ.ณัฐพล ระบุว่า ไม่ได้มองที่ตัวเลขใดตัวเลขหนึ่ง แต่ต้องมองหลายปัจจัย ทั้งจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อ จำนวนสถานพยาบาลที่มีอยู่ และปัจจัยอื่นๆ ในแง่เศรษฐกิจด้วย ซึ่งต้องมองในทุกมิติ ไม่ใช่มองด้านใดด้านหนึ่ง

พล.อ.ณัฐพล ยังระบุอีกว่า ในแง่ของ ศบค. ความสำเร็จในมาตรการควบคุมโรค ต้องประกอบด้วย 3 ส่วน หน่วยงานภาครัฐ ต้องมีความเข้มข้นจริงจัง มีความประณีต ในมาตรการควบคุมโรค ส่วนเอกชนผู้ประกอบการจะต้องให้การสนับสนุนตามมาตรการที่ ศบค. กำหนด และประชาชนให้ความร่วมมือกับมาตรการต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชนได้กำหนดเพิ่มเติม นอกจากนี้ เมื่อวานนี้ (18 ก.ค.64) ตนได้หารือร่วมกับสื่อมวลชนว่าถือเป็นส่วนที่ 4 ช่วยขับเคลื่อนให้มาตรการต่างๆ เป็นประโยชน์ได้หรือมีประสิทธิภาพได้ คือสื่อมวลชนต้องทำความเข้าใจกับประชาชนและขยายผล ซึ่งจะทำมาตรการต่างๆ นั้นมีประสิทธิผล โดยหัก 4 ส่วนมีความร่วมมือกันอย่างจริงจัง ศบค. คาดว่าสถานการณ์ น่าจะเอาอยู่ แต่หากลำพัง ศบค. อย่างเดียว  อีก 2-3 ส่วนไม่ให้ความร่วมมือ ศบค.ก็คิดว่าไม่น่าเอาอยู่

ณัฐพล เลขา สมช. วอนปชช.งดเดินทางหากไม่จำเป็น-ขอWFH

เลขา สมช. ย้ำ โครงสร้าง ศบค. ทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี มีประสิทธิภาพ ขอ ปชช. เห็นใจ สธ.เร่งจัดหาวัคซีนอย่างเต็มที่

พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ผอ.ศปก.ศบค.) กล่าวว่า ปัจจุบันในโครงสร้าง ศบค.ถือว่าทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ประสานสอดคล้องกันไป ซึ่งบางครั้งอาจมีการให้ข้อมูลที่แตกต่างกันบ้าง แต่หลังจากนั้นก็มีการพูดคุยกันเพราะฉะนั้นทีมเดิมโครงสร้างเดิม ยังมีประสิทธิภาพดีอยู่ ส่วนผู้เชี่ยวชาญที่จะเพิ่มเติม ในครั้งนี้ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี ที่จะมอบหมาย แต่หากในมุมของตน โครงสร้างที่มีอยู่ก็มีความพร้อม ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วน ศบค. จะสร้างความเชื่อมั่น ให้กับประชาชนในเรื่องการจัดหาวัคซีนอย่างไร โดยเฉพาะวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสามารถรองรับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆ ได้ นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการเริ่มต้นจากคณะกรรมการวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้พิจารณาและเสนอต่อคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ซึ่งขณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จะเสนอไปยังนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ ศบค.เป็นผู้พิจารณาเห็นชอบ ซึ่งในห้วงเวลาที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขทำงานอย่างเต็มที่ จึงอยากขอความกรุณาสื่อมวลชนและประชาชน ช่วยให้ความเข้าใจ และเห็นใจกับกระทรวงสาธารณสุข ที่ทำงานอย่างประณีต แต่ปัจจัยปัญหาที่ตนเห็นอยู่นั้นมีอยู่ 2 อย่าง คือ ปัจจัยสภาพแวดล้อมและบริบทแต่ละวัคซีน ซึ่งมีความแตกต่างกันไป วันหนึ่งวัคซีนชนิดหนึ่ง มีความเหมาะสม แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน เชื้อไวรัสมีการกลายพันธุ์วัคซีนชนิดหนึ่งอาจจะไม่เหมาะกับสถานการณ์นั้น จึงต้องมีการปรับรูปแบบกันไป

นอกจากนี้ปริมาณวัคซีนในตลาด มีจำกัด จึงไม่สามารถเลือกได้ว่าจะซื้อวัคซีนยี่ห้อนี้ในเวลาไหน เพราะฉะนั้นกลไกเป็นของผู้ขายผู้ซื้อมีความจำเป็นที่ต้องเลือกซื้อหรือดำเนินการจัดหาตามปริมาณที่มีอยู่ในตลาด หรือในส่วนที่ผู้ผลิตกำหนด หรือการกำหนดเวลาจะส่งก็เป็นไปตามที่ผู้ผลิตกำหนด ไม่สามารถที่จะไปบังคับหรือกำหนดได้เองว่าเดือนนี้จะต้องการวัคซีนเท่าใด พร้อมย้ำว่ากระทรวงสาธารณสุขทำงานกันอย่างเต็มที่

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube