“วิโรจน์” เสนอแนะการประครองสถานการณ์โควิด-19 ถึง นายกฯ พร้อมแนะรัฐบาลเร่งใช้ชุดตรวจ ATK ให้มากที่สุด
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงข้อเสนอแนะในการประคองสถานการณ์โควิด-19 เพื่อลดอัตราการติดเชื้อ และการสูญเสียชีวิตของประชาชน จากกรณีที่รัฐบาลบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดที่บกพร่องอย่างร้ายแรง โดยข้อเสนอดังกล่าวส่งตรงไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19
โดยนายวิโรจน์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นวันละ 14,000-15,000 ราย ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาถึง 10 วันแล้ว โดยการระบาดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพียงแค่ระยะเวลา 15 วัน จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว โศกนาฏกรรมที่น่าเสียใจที่สุด คือ การเสียชีวิตของประชาชนที่มากกว่า 100 คนต่อวัน ประชาชนจำนวนมากต้องดิ้นรนหาที่ตรวจโรคเอง หลายคนต้องป่วยตายคาบ้านระหว่างรอเตียง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความล้มเหลวของรัฐบาลภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล และเป็นหนี้ชีวิตที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องชดใช้
นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องการบริหารจัดการ การจัดหา และจัดฉีดวัคซีน แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ได้กล้าหาญที่จะออกมากล่าวคำขอโทษกับประชาชนด้วยตนเอง แต่เหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าการออกมาขอโทษประชาชนของผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และเปลี่ยนการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ COVAX Facility เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 64 การที่คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติมีมติให้จัดหาวัคซีนที่สามารถตอบสนองต่อเชื้อกลายพันธุ์ได้จำนวน 120 ล้านโดส ในปี 65 พร้อมกับเร่งรัดให้จัดหาวัคซีนภายในปีนี้ ให้ได้ 100 ล้านโดส เมื่อวันที่ 14 ก.ค.64 การที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทำหนังสือถึงแอสตราเซเนกา เพื่อขอให้ส่งมอบวัคซีนให้ได้เดือนละ 10 ล้านโดส เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา ตลอดจนการยื่นข้อเสนอซื้อวัคซีน Pfizer เพิ่มเติมอีก 50 ล้านโดส เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ก็คือ การที่รัฐบาลได้สารภาพผิดโดยพฤตินัย เพราะจำนนต่อหลักฐาน ซึ่งประชาชนและสังคมก็ได้พิพากษา พล.อประยุทธ์ ,อนุทิน และรัฐบาลนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าว แม้ว่ารัฐบาลจะกลับเนื้อกลับตัวได้แล้ว ก็ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ สิ่งที่สำคัญที่สุดในเวลานี้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ มีมากกว่าผู้ที่หายป่วยกลับบ้าน สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การประคับประคองให้จำนวนผู้ติดเชื้อชะลอตัวลง และลดอัตราการเสียชีวิตของประชาชนให้น้อยลงกว่าที่เป็นอยู่นี้ให้ได้ หากรัฐบาลไม่ดำเนินการใดๆที่มีประสิทธิภาพ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่อาจเพิ่มขึ้นมากกว่าวันละ 20,000 ราย ซึ่งจะทำให้ระบบสาธารณสุขล้มเหลว และอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่าวันละ 200 คน
“วิโรจน์” เสนอรัฐบาลเร่งใช้ชุดตรวจ ATK ให้มากที่สุด พร้อมกระจายอำนาจสาธารณสุข และ ตรวจสอบอุปสรรคหน้างานอย่างเร็วที่สุด
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงข้อเสนอแนะต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. จำนวน 3 ข้อ คือ
ข้อที่ 1 : เร่งใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit หรือ ATK ตรวจประชาชนให้มากที่สุด และจัดสรรให้ประชาชนทุกคน โดยเฉพาะประชาชนที่พักอาศัยในพื้นที่สีแดง สามารถนำเอาบัตรประชาชนมาขอรับ เพื่อนำไปใช้ตรวจวินิจฉัยตนเองโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ได้สัปดาห์ละ 1 ชุด โดยสามารถลงทะเบียนขอรับผ่านทางไปรษณีย์ หรือขอรับด้วยตัวเอง ได้ที่หน่วยงานท้องถิ่น หรือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อลดภาระของกระทรวงสาธารณสุข และเพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขได้นำเอาสรรพกำลังไปทุ่มเทดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการหนักอย่างเต็มศักยภาพ นอกจากนี้ให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณอุดหนุน เพื่อให้ราคาของชุดตรวจ Antigen Test Kit อยู่ที่ไม่เกินชุดละ 50 บาท และเร่งจัดหามาให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน
การเพิ่มการตรวจอย่างอย่างครอบคลุม ต่อเนื่อง จะเป็นบันไดขั้นแรกที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่จะช่วยลดการแพร่ระบาดลง โดยผู้ที่พบว่าตนเองติดเชื้อ จะได้กันตัวเองออกจากคนในครอบครัว และชุมชน และเข้าสู่กระบวนการรักษาให้เร็วที่สุด
ข้อที่ 2 : ให้รัฐบาลกระจายอำนาจจากกระทรวงสาธารณสุขให้กับหน่วยงานท้องถิ่น และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียว และเหลืองอ่อน เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถทุ่มเท ดูแลรักษาผู้ติดป่วยในกลุ่มสีเหลือง สีแดง และผู้ป่วยในภาวะวิกฤติได้ โดยให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ ดังนี้
2.1. เร่งจัดทำศูนย์พักคอยเพื่อติดตามอาการ หรือ Community Isolation Center ให้มากที่สุด โดยใช้พื้นที่วัด ศาสนสถาน โรงเรียน ค่ายทหาร และสวนสาธารณะ ตลอดจนสถานที่ราชการต่างๆ เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียว และเหลืองอ่อน ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 70-75% ที่ไม่สามารถกักตัวรักษาตนเองที่บ้านได้ โดยให้มีขีดความสามารถในการรองรับผู้ติดเชื้อในระดับ 150,000-200,000 ราย กระจายเป็นจุดต่างๆ อย่างครอบคลุม
2.2. ให้รัฐบาลกระจายอำนาจให้กับหน่วยงานท้องถิ่น หรือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ในการดูแลศูนย์พักคอยเพื่อติดตามอาการ เช่น ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้สำนักอนามัย ศูนย์บริการสาธารณสุข และสำนักเทศกิจ ทำหน้าที่ดูแล และในพื้นที่ต่างจังหวัดให้ อบต. และอบจ. เป็นผู้ดูแล เป็นต้น
2.3. สำหรับผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ และไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาล หากพบว่ากักตัวมาเป็นระยะเวลา 10 วันแล้ว ไม่มีอาการของโรค และสภาพปอดปกติ ให้ผู้ป่วยกลับไปกักตัวรักษาตนเอง หรือทำ Home Isolation ที่บ้าน หากที่บ้านไม่เอื้ออำนวย ให้ผู้ป่วยมาพักที่ศูนย์พักคอยเพื่อติดตามอาการ หรือ Community Isolation Center จนครบ 14 วัน เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับโรงพยาบาล ในการดูแลผู้ป่วยในกลุ่มสีเหลือง สีแดง และผู้ป่วยในภาวะวิกฤติ
2.4. ให้โรงพยาบาลรับผู้ป่วยในกลุ่มที่เปลี่ยนจากสีเขียว เป็นสีเหลือง จากศูนย์พักคอยติดตามอาการ Community Isolation Center หรือ Home Isolation หรือกรณีใดๆ มารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ภายใต้การกำกับดูแลของโรงพยาบาล โดยห้ามมิให้ปฏิเสธ
ข้อที่ 3. ให้รัฐบาลตรวจสอบอุปสรรคหน้างานอย่างเร็วที่สุด โดยเฉพาะข้อจำกัดที่ทำให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงยาต้านไวรัสอย่างล่าช้า เร่งแก้ไขระเบียบ ลดขั้นตอน และลดงานเอกสารงานธุรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลและการเข้าถึงยาลง ในกรณีที่จำเป็น ก็ต้องใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการแก้ไขปัญหาคอขวดที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ที่เริ่มมีอาการ ตลอดจนผู้ติดเชื้อที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว ได้เข้าถึงยาฟาวิพิราเวียร์ได้เร็วที่สุด
ทั้งนี้นายวิโรจน์ ระบุว่า รัฐบาลควรจะแก้ไขกฎระเบียบ ให้อาสาสมัครต่างๆ ที่ช่วยประสานหาเตียงให้กับผู้ติดเชื้อ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ศูนย์พักคอยติดตามอาการ Community Isolation Center สามารถที่จะประสานงานกับโรงพยาบาล เพื่อลงทะเบียนให้กับผู้ติดเชื้อได้ และสามารถรับยาที่แพทย์สั่ง มาจ่ายให้กับผู้ป่วยที่อยู่ในศูนย์พักคอยติดตามอาการ รวมทั้ง ‘นำส่งยาที่แพทย์สั่ง’ ให้กับผู้ติดเชื้อที่ทำ Home Isolation หรืออยู่ระหว่างการรอเตียง เพื่อลดโอกาสการเสียชีวิต ให้น้อยลงที่สุดเท่าที่จะทำได้ และท้ายที่สุด คือ ยา และเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่จำเป็น เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์, ยา Remdesivir หรือยาที่จำเป็นต้องใช้ในห้อง ICU เช่น ยา Nimbex, Propofol หรือ Midazolam รัฐบาลต้องดูแลไม่ให้สต๊อกยา และเวชภัณฑ์เหล่านี้ขาดแคลน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news