คณะรัฐมนตรี เห็นชอบหลักการมาตรการเยียวยาค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครอง 2,000 บาท/นักเรียน 1 คน
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เห็นชอบในหลักการมาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนและประชาชน ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอุดมศึกษา ภาครัฐและเอกชน ดังนี้ มาตรการให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของกระทรวงศึกษาธิการ หรือ ศธ. กรอบวงเงิน 23,000 ล้านบาท สำหรับนักเรียนในระบบการศึกษาไทย ภาคเรียนที่ 1 ปี การศึกษา 2564 เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครอง 2,000 บาท/นักเรียน 1 คน, จัดสรรค่าใช้จ่ายให้แก่สถานศึกษาเพื่อช่วยจัดการเรียนรู้ และลดหรือตรึงค่าใช้จ่ายในโรงเรียนเอกชนให้เท่ากับปีการศึกษา 63
มาตรการการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน ของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. กรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมาย คือ นิสิต/นักศึกษาชาวไทย ระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา ในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน ระยะเวลา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 แนวทางการดำเนินการ, สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จะได้รับส่วนลดเป็นลักษณะร่วมจ่ายระหว่างรัฐและสถาบันอุดมศึกษาในอัตรา 6:4 โดยค่าเล่าเรียน/ค่าธรรมเนียมการศึกษาส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท ลดร้อยละ 50 / 50,001 – 100,000 บาท ลดร้อยละ 30 และเกิน 100,000 บาท ลดร้อยละ 10 โดยส่วนลดสูงสุดรวมกันไม่เกินร้อยละ 50
-สถาบันอุดมศึกษาของเอกชน ค่าเล่าเรียน/ค่าธรรมเนียมการศึกษา รัฐสนับสนุนในอัตรา 5,000 บาท/คน
นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังขอให้พิจารณาเพิ่มเติม ทั้งขยายเวลาผ่อนชำระ จัดหาอุปกรณ์ โปรแกรมสำหรับยืมเรียนออนไลน์ รวมทั้งลดค่าหอพักด้วย
ทั้งนี้นายอนุชา ระบุว่า ศธ. และ อว. จะเร่งจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับสนับสนุนแหล่งเงิน ตามขั้นตอนของ พ.ร.ก. กู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 รวมทั้ง จะกำหนดกลไกการตรวจสอบยืนยันตัวตนของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือและการจ่ายเงินให้ความช่วยเหลือผ่านระบบบัญชีธนาคาร พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจถึงหลักการและแนวทางการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนและประชาชนต่อไป
คณะรัฐมนตรี อนุมัติ 13,026 ล้านบาทให้ สปสช. ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 และเยียวยาผู้เสียหายจากวัคซีน ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุม คณะรัฐมนตรี ในวันนี้ ว่า ที่ประชุมอนุมัติกรอบวงเงิน 13,026.12 ล้านบาท ให้ สปสช. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยบริการ สถานพยาบาลที่ให้บริการสาธารณสุขโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับประชาชนทุกสิทธิ ระหว่างเดือนสิงหาคม – กันยายน 2564 สำหรับกลุ่มเป้าหมายจำนวน 3,508,060 ราย ประกอบด้วย
1) กลุ่มเสี่ยงที่ได้รับการตรวจคัดกรองไวรัสโควิด-19 จำนวน 3,392,800 ราย
2) ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับบริการสาธารณสุข จำนวน 114,500 ราย และ
3) ผู้ได้รับความเสียหายจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 760 ราย
ทั้งนี้ โครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของ สปสช. จะเป็นการช่วยลดงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลในภาพรวม เนื่องจากเป็นโครงการลงทุนให้เกิดการบริการตรวจคัดกรองหรือป้องกันไม่ให้เกิดการติดโรค ซึ่งมีต้นทุนค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการรักษาเมื่อป่วยแล้ว ทั้งยังเป็นหลักประกันทางสังคมด้านสุขภาพสำหรับประชาชนไทยที่ได้รับผลกระ ทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกด้วย
ทั้งนี้ สปสช. จะได้เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อภายใต้สวัสดิการต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมทั้งร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาแนวทางการจัดบริการตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชน เพื่อสนับสนุนให้แต่ละภาคส่วนสามารถจัดบริการป้องกันการติดเชื้อเชิงรุกในชุมชนได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพต่อไปด้วย
ครม. อนุมัติเพิ่มกรอบวงเงิน เยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33 ใน 9 ประเภทกิจการ 13 จังหวัดแดงเข้ม เป็น 1.5 หมื่นลบ.
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ว่า ที่ประชุมอนุมัติเพิ่มกรอบวงเงินโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดและพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นจำนวน 15,027.686 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1,522.99 ล้านบาท จากเดิม 13,504.696 ล้านบาท โดยเพิ่มจากเดิม 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด ซึ่งพื้นที่ 3 จังหวัดที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา พร้อมมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมเร่งประมาณการจำนวนนายจ้างและผู้ประกันมาตรา 33 กลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะขึ้นทะเบียนประกันสังคมรายใหม่ด้วย
โดยกรอบวงเงิน 15,027.686 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินช่วยเหลือให้แก่นายจ้างในระบบประกันสังคมใน 9 ประเภทกิจการ ใน 13 จังหวัดกลุ่มเป้าหมาย 7,238.631 ล้านบาท และเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 สัญชาติไทยที่เป็นลูกจ้างในกิจการของนายจ้างตามคุณสมบัติ จำนวน 7,789.055 ล้านบาท ซึ่งทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยา ยังจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news