“หมอธีระ”ชี้สู้โควิดต้องเรียนรู้บทเรียนต่างประเทศ
“หมอธีระ” โพสต์เฟซบุ๊กเผย 3 ข้อเกี่ยวกับสงครามโควิด-19 เราสามารถเรียนรู้จากบทเรียนต่างประเทศ
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ว่า สถานการณ์ทั่วโลก 7 สิงหาคม 2564 ทะลุ 202 ล้านไปแล้ว อเมริกาติดเพิ่มกว่าแสนคนอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มระบาดทั่วโลกรุนแรงขึ้น อัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในแต่ละวันคล้ายกับระลอกที่ผ่านมา 5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุด ยังคงเป็นเช่นเดิมคือ อเมริกา บราซิล อินโดนีเซีย อินเดีย และอิหร่าน ส่วนสถานการณ์ของไทยขณะนี้มียอดติดเชื้อสะสมอยู่ที่อันดับ 39 ของโลก หากรวมยอดติดเชื้อใหม่ในวันนี้ จะแซงเซอร์เบียและสวิสเซอร์แลนด์ ขึ้นเป็นอันดับที่ 37
ทั้งนี้ จากการระบาดที่ลามไปทั่วโลก เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา สามารถเรียนรู้จากบทเรียนต่างประเทศได้ว่า
1.การต่อสู้กับโรคระบาดโควิด-19 นั้น จะมีโอกาสสู้ได้ก็ต่อเมื่อมีการใช้ความรู้ที่ถูกต้อง ชัดเจน พิสูจน์ได้ มาสร้างนโยบายและมาตรการต่างๆ ดังที่เรียกกันว่า “evidence-based policy making” ทั้งนี้ ความรู้นั้นต้องเป็นมาตรฐานสากล มิใช่ความเชื่อส่วนบุคคลหรือกลุ่มบุคคล หรืออาศัยวิกฤติที่คุกคามชีวิตของประชาชนเป็นสนามทดลอง
2.การควบคุมโรคของประเทศที่ทำได้ดีนั้น ทำมาตรการที่ก้าวล้ำนำการระบาด ดักโรคล่วงหน้า ไม่ใช่วิ่งไล่ตาม เพราะวิ่งอย่างไรก็ไม่มีทางทัน ดังนั้นประเทศที่คุมได้ดีจึงมัก “Hit hard hit early” เหมือนเวลารักษาโรคเอดส์ แต่ประเทศที่ระบาดรุนแรงมักมาจากการดำเนินมาตรการควบคุมแบบวิ่งไล่ตามปิดโน่นนี่นั่นหลังจากมีการระบาดมากแล้ว จึงมักไม่ได้ผล จนเจ็บหนักเจ็บนานและยากต่อการฟื้นฟู ส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม สูญเสียชีวิตมากมาย
3.ประเทศที่แม้จะเคยมีความพลาดพลั้งบ้างแต่กลับมาควบคุมได้นั้น มักมีกลไกบริหารและวิชาการที่มีความรับผิดชอบสูง การตัดสินใจเชิงนโยบายใดๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาหนักหรือผลกระทบต่อประชาชน ก็มักออกมา”แสดงความรับผิดชอบ ลาออก ปรับเปลี่ยนให้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาแก้ไขวิกฤติของประเทศได้อย่างทันท่วงที” แสดงถึงการให้ความสำคัญต่อชีวิตของคน มากกว่าตำแหน่งหน้าที่ และเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม ทำให้ยังคงได้ทั้งความเคารพนับถือจากประชาชนและการเคารพนับถือตนเอง
ดังนั้น ในยามสงครามโรคระบาดที่รุนแรงเช่นนี้ การตัดสินใจเชิงนโยบาย และการดำเนินมาตรการต่างๆ ต่อสาธารณชนนั้นสำคัญอย่างยิ่ง หากตัดสินใจถูกต้องก็สร้างคุณประโยชน์ต่อทุกชีวิตในสังคม แต่หากไม่ถูกต้อง ก็มีโอกาสส่งผลให้คนเจ็บป่วย เสียชีวิตมากมาย และเกิดผลกระทบต่อคนอื่นๆ ในครอบครัว สูญเสียคนที่รัก สูญเสียเสาหลัก หมดเนื้อหมดตัวจากผลกระทบทางเศรษฐกิจอันยาวนาน การจะทำให้ถูกต้อง หรือลดความเสี่ยงที่จะผิดพลาดให้น้อยที่สุดได้นั้น จำเป็นต้องใช้ความรู้เป็นแสงส่องทาง