อย่าขวาง กม.ปกป้องคนทำงาน ! “ศุภชัย” แจงปมดราม่า พ.ร.ก.จำกัดความผิด สธ. ย้ำ อย่าเรียกนิรโทษกรรม เพราะยังไม่ใครทำผิด
นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า อย่าขวางกฎหมายปกป้องคนทำงานอคติทางการเมืองบังตาจนน่ารังเกียจ กับกลุ่มที่ตั้งป้อมโจมตี ‘พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย COVID-19’ โดยฝ่ายการเมืองตั้งชื่อให้ใหม่ว่าเป็น “กฎหมายนิรโทษกรรมวัคซีน” ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะคำว่า “นิรโทษกรรม” แปลว่า การยกเลิกโทษแก่ผู้กระทำความผิด แต่ ณ ปัจจุบัน ในการบริหารจัดการปัญหาโควิด 19 นั้น ยังไม่มีใครต้องโทษแม้แต่คนเดียว อันที่จริง กฎหมายที่กำลังเป็นที่ถกเถียงอยู่นี้ มีเจตนาที่ดีมากๆ คือ “ปกป้องคนทำงาน” ทั้งฝ่ายปฏิบัติ และฝ่ายบริหาร สาระสำคัญของของกฎหมายดังกล่าว ซึ่งเปิดเผยโดย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกับ พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา
ระบุว่า เจตนารมณ์ที่ทำร่างพรก.ฉบับนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ และเพื่อให้บุคลากรทุกภาคส่วนของสาธารณสุขสามารถทำงานได้อย่างมั่นใจ มีขวัญและกำลังใจที่จะดูแลประชาชนอย่างเต็มที่มากยิ่งขึ้น โดยบุคคลที่จะได้รับความคุ้มครอง คือบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานในสถานบริการทั้งภาครัฐและเอกชน และคุ้มครองการทำงานในสถานพยาบาล โรงพยาบาลสนามหรือสถานที่จัดตั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19
ทั้งนี้ พรก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เป็นกฎหมายที่มีจุดประสงค์ควบคุมการกระทำของบุคลากรสาธารณสุขให้เป็นไปด้วยความสุจริต และเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้บุคลากรปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
เนื้อหาสาระของกฎหมาย เป็นไปเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนทำงานด้านสาธารณสุข ทุกหมู่เหล่า มิใช่ว่า ทำงานไป กลัวถูกเล่นงานไป ประเด็นคือ กฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช่กฎหมายที่ออกมาปกป้องคนชั่ว ปกป้องคนเลว เพราะมีข้อยกเว้น ให้การกระทำต่อไปนี้ ต้องรับผิดทางกฎหมาย
– การกระทำโดยไม่สุจริต
– การกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
– การกระทำเกิดจากการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
แน่นอนว่า กฎหมายนี้ ไม่ได้ปิดกั้นการฟ้องร้อง หากฝ่ายการเมืองคิดว่าที่ผ่านมา การจัดหาวัคซีนนั้น มีข้อไหนที่ขัดต่อกฎหมาย ก็ไปฟ้องเอาผิดได้เลย หาก ว่าผู้ถูกฟ้องร้องมีพฤติกรรมเข้าเงื่อนไขด้านบน คือ กระทำโดยทุจริต ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ก็ย่อมถูกลงโทษ การออกกฎหมายเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับคนทำงานนั้น ไม่ใช่เรืองที่ควรขัดขวางแต่ควรส่งเสริมให้เดินหน้าต่อด้วยซ้ำ
ทุกวันนี้ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ร้อนแรงแบบสุดๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนทำงานด้วยความบริสุทธิ์ใจ ล้วนมีความหวาดระแวง ในการปฏิบัติหน้าที่ อย่าปฏิเสธ ว่า ไม่มีการจับผิดคนทำงานทุกอย่างปรากฏให้เห็นแล้ว ทั้งเรื่อง การวิพากษ์ตำรวจด่านหน้ารับเข็ม 3 การวิพากษ์ แพทย์จังหวัดเลย ที่ได้รับไฟเซอร์ และอีกสารพัดกรณีตัวอย่าง ที่ทำให้คนทำงานรู้สึกกังวล
เรื่องดราม่าเหล่านี้เกิดขึ้นทุกวัน เช่นเดียวกับการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ก็เกิดขึ้นทุกวัน ซึ่งหมอ และพยาบาล ต่างก็ลุ้นว่า ในการรักษาผู้ป่วยวันละ 1.5 – 2 หมื่น เคส อาจจะมีผู้ป่วย “ฉลาดแกมโกง” งัดกฎหมายมาเอาผิดหมอ หมอทำงานทุกวันด้วยใจสั่นระรัว นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ กฎหมายนี้ ต้องออกมาเป็น พรก. เพราะ ต้องลัดขั้นตอนสภา ให้ออกมาบังคับใช้ให้เร็วที่สุด
เหล่านี้คือภาพสะท้อนความจำเป็น และตอบคำถามว่า ทำไม ‘พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย COVID-19’ จึงไม่ควรถูกขัดขวาง
#ปกป้องคนทำงาน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news