“ชัยวุฒิ” แจงยิบทุกประเด็น ตั้งแต่ความสัมพันธ์เจ้าสัว – เอื้อสัมปทานกลุ่มทุน – เฟกนิวส์
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า การที่ใช้คำว่าระบอบปรสิต ถือว่ากำลังดูถูกเพื่อนสมาชิกทุกคนในสภา เพราะทุกคนมาจากการเลือกตั้ง การใช้คำปรามาสแบบนี้ ไม่เหมาะสม พร้อมยืนยัน เมื่อได้เข้ามาทำงานการเมือง และได้เป็น รมว.ดีอีเอส ตนไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่ผู้อภิปรายระบุถึง ตนไม่ทราบมาก่อนว่าบริษัทดังกล่าวทำธุรกิจสื่อสารอะไร เพราะลาออกมานานแล้ว แต่ภายหลัง เมื่อทราบ ก็ระมัดระวังเพื่อป้องกันการครหา และไม่ได้เอื้อประโยชน์แต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน ยืนยันการทำธุรกิจดาวเทียมของเอ็นที ไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้บริษัท ไทยคม ที่เป็นลักษณะสัมปทานผูกขาด ตัดตอน ต่อเนื่อง แบบที่กล่าวหา เพราะได้ให้นโยบายว่า ผู้ใช้บริการทุกคนต้องได้รับการบริการอย่างต่อเนื่องไม่มีทีวีจอดำ อะไรที่จำเป็นต้องร่วมมือกับบริษัท ไทยคม ก็ต้องร่วมมือกัน และอะไรทำเองได้ก็ต้องทำให้มากที่สุด ที่สำคัญคือต้องคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้เสียค่าบริการแพงกว่าเดิม การจัดสรรคลื่นความถี่
นายชัยวุฒิ ยังชี้แจงเรื่องเฟกนิวส์ที่พูดกันมากในสังคมว่า รัฐบาลใช้เฟกนิวส์เป็นเครื่องมือทำลายทางการเมืองขั้วตรงข้ามนั้น ก็ไม่เป็นความจริง ตนต้องทำหน้าที่ตามกฎหมาย พรบ.คอมพิวเตอร์ เพื่อความสงบสุขความเรียบร้อยในการใช้คอมพิวเตอร์ เพราะตอนนี้มีการใช้โซเชียลมีการใช้อย่างแพร่หลาย เต็มไปด้วยสิ่งผิดกฎหมายเราควบคุมไม่ได้ จึงมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไว้ควบคุมดูแลเอาผิดอาชญากรที่หลอกลวงประชาชน รวมถึงสร้างความแตกแยกให้กับแผ่นดินด้วย ขณะที่กระบวนการดำเนินการเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม การปิดกั้นเฟกนิวส์ไม่เกี่ยวกับกระทรวงดีอี แต่เมื่อกระทรวงเห็นข้อความใดเข้าข่ายผิดกฎหมายจะรวมรวมส่งให้ศาล จึงไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงดีอีทั้งหมด แต่เป็นเรื่องของศาล และกระบวนการยุติธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองเลย
ส่วนศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ภารกิจหลักคือเผยแพร่ให้ข้อมูลกับประชาชน หากตรวจสอบว่าพบข่าวปลอมที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชน ศูนย์ฯก็จะแจ้งเตือนผ่านระบบต่างๆ เพื่อที่หน่วยงานต่างๆจะได้ประชาสัมพันธ์ต่อไป
“เฉลิมชัย” แจงซักฟอก เคลียร์ปมระบายยาง บริสุทธิ์ โปร่งใส สุจริตไม่ผิดกฎหมาย
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลุกขึ้นชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เรื่องยางพาราและการระบายยางว่า การประชุมทุกครั้ง จะต้องมีองค์ประชุมครบถึงจะดำเนินการได้ จะต้องเป็นมติของที่ประชุม การยางแห่งประเทศไทย เป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งตามพระราชบัญญัติการยาง 2558 โดยมีบอร์ดการยางเป็นผู้ออกนโยบายกำกับดูแล อนุมัติในกิจกรรมของการยางแห่งประเทศไทย รวม 14 คน จะมีมติได้ที่ประชุมส่วนใหญ่ถือเป็นเอกฉันท์ เป็นความรับผิดชอบร่วม การยางแห่งประเทศไทยมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจในการควบคุมกำกับของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ทั้งนี้ ตนเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อวันเดือนกรกฎาคมปี 2562 และรัฐบาลแถลงนโยบายประกันรายได้ราคาพืชผลการเกษตร 5 ชนิด ยางพาราเป็น 1 ในสินค้า 5 ชนิด ที่รัฐบาลดำเนินโครงการประกันรายได้ เพื่อให้ประชาชนได้รับการประกันว่าจะมีการรายได้ขั้นต่ำที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ถ้าเกษตรกรมีความเข้มแข็งประเทศชาติก็มีความเข้มแข็งด้วย ถ้ามีรายได้ที่มั่นคงประเทศชาติก็จะมั่นคงด้วย
ขณะเดียวกัน จากปัญหายางในสต็อก คณะกรรมการการยางธรรมชาติ จึงได้มีมติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ให้ระบายยางในสต็อกนี้ให้หมดโดยเร็ว และนำเข้า ครม. วันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 การระบายต้องดูจังหวะที่เหมาะสมและไม่กระทบกับราคายางในตลาดมากนักเมื่อ ครม. ได้รับทราบ ตนในฐานะกำกับดูแลการยางแห่งประเทศไทย ให้นโยบายการยางแห่งประเทศไทยในการระบายอย่างสต็อก
1.ให้การยางแห่งประเทศไทยดูช่วงเวลาที่เหมาะสมในการระบายเพื่อไม่ให้กระทบราคายางในตลาด
2.พี่น้องเกษตรกรต้องได้รับประโยชน์
3.ต้องรักษาผลประโยชน์ภาครัฐเพราะเป็นเงินภาษีของพี่น้องประชาชน
4.ต้องทำโดยสุจริตโปร่งใสตรวจสอบได้ และถูกต้องตามระเบียบ
ที่เน้นย้ำที่สุดคือห้ามทุจริตคอรัปชั่นโดยเด็ดขาด ถ้าเขาทำทุจริตผิดกฎหมายผมไม่ละเว้นอยู่แล้วและนอกจากผมไม่ละเว้นแล้วยังมีหน่วยงานมากมายที่รอการตรวจสอบท่านสามารถฟ้องได้เลย เพราะถ้าไม่ถูกต้องผมก็ไม่ชอบ อยู่ประเทศไทยทำร้ายประเทศผมก็ไม่เอา
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news