Home
|
ข่าว

“วิษณุ” ยันแก้รธน.ถูกคว่ำ ไม่ถือขัดนโยบายรบ.

Featured Image
“วิษณุ” ยันแก้รธน.ถูกคว่ำ ไม่ถือขัดนโยบาย รัฐบาลเพราะถือว่าได้ทำแล้ว แต่หากผ่าน “ยุบสภา-ลาออก” ก็ไม่สะดุด ส่วนเลือกตั้งอบต. คาดปลาย พ.ย.- กลางธ.ค.

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ระบุถึงทิศทางลงมติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ในวันที่ 10 กันยายน 2564 ว่า ตนไม่ขอตอบส่วนทางรัฐบาลมีการหารือเรื่องนี้หรือไม่นั้น ไม่มีการหารือในประเด็นดังกล่าว เป็นเรื่องของพรรคการเมืองเป็นผู้เสนอ ตนไม่ทราบเรื่อง

ทั้งนี้ นายวิษณุ ยังระบุอีกว่า การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ไม่คว่ำก็สามารถเดินต่อได้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น รัฐบาลจะลาออก หรือยุบสภาก็ตามถือว่าการพิจารณาแล้วเสร็จ ส่วนใครจะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความหรืออะไรก็แล้วและ เมื่อจบกระบวนการต้องส่งขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้ ซึ่งเป็นเรื่องของสภาและพรรคการเมือง

ส่วนหากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ผ่านในวาระ 3 จะถือว่าไม่ทำตามนโยบายที่จะแถลงหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ใช่ เพราะได้ทำตามนโยบายตั้งแต่เสนอเข้าไปซึ่งสภาฯก็รับหลักการไปแล้ว ซึ่งจะผ่านหรือไม่ผ่านเป็นเรื่องของสภาฯ ส่วนหากไม่ผ่านก็สามารถเสนอขึ้นมาใหม่ได้

ขณะที่การพิจารณาวันเลือกตั้งท้องถิ่นในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายวิษณุ ระบุว่า จะเป็นการเลือกตั้งในส่วนขององค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. ก่อนเนื่องจากมี 3,000 กว่าแห่งจึงอยากทดลองตรงนี้ก่อนว่าได้ผลหรือไม่ ส่วนเมืองพัทยาและกทม.จะไว้พร้อมกัน ไม่รู้เมื่อไหร่ โดยให้คณะกรรมการเลือกตั้ง หรือ กกต.เป็นผู้พิจารณาว่าต้องการเวลาเท่าใด ซึ่งขณะนี้กกต.ยังไม่ได้บอกว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด และครม.ก็สั่งไม่ได้ เพียงแต่ทราบว่าอยู่ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนธันวาคม ซึ่งมีอยู่ 2 สัปดาห์

 

“วิษณุ” ย้ำ ศบค. คงอำนาจจนกว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไขประกาศใช้ ยุบ-ไม่ยุบ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ขอประชาชนอย่ากังวล อาจจะมีหน่วยงานตั้งขึ้นใหม่และใหญ่กว่า

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการยุบศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด โควิด-19 หรือ ศบค. ว่าไม่ควรใช้คำว่า ยุบ ซึ่ง ศบค. ถือเป็นหน่วยงานที่ตั้งกันเอง ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นไปตามยุคสมัย ซึ่งขณะนี้รัฐบาลพยายามขอแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องแยกออกมา เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 ใช้กับเหตุการณ์ฉุกเฉิน อย่างการก่อการร้ายการ ก่อความไม่สงบสุข และสามารถใช้ได้กับกรณีเกิดภัยพิบัติ หรือโรคระบาดได้

แต่ในขณะนี้เมื่อใช้ไปได้สักระยะ ก็ไม่ค่อยจะตรงนัก และทุกฝ่ายก็พะอืดพะอมกันอยู่ จึงเห็นควรมีการแก้ไขกฎหมายโรคติดต่อ เพื่อใช้กับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขซึ่งหากในอนาคตมีการประกาศใช้ สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ก็ไม่ต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่งผลให้ไม่มีความจำเป็นต้องตั้ง ศบค.

ทั้งนี้ ศบค. ถูกตั้งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็อาจจะมีหน่วยงาน นศ.ใหม่ หรือหน่วยงานอื่นขึ้นมาได้ อาจจะเท่ากันหรือใหญ่กว่าก็ได้ ส่วนนายกรัฐมนตรี จะขึ้นเป็นประธานหรือไม่นั้น ก็แล้วแต่เพราะยังไม่เห็นกฎหมาย ขออย่าคิดว่าทุกอย่างเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่ว่ายุบแล้วจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ส่วน พ.ร.บ.โรคติดต่อ ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากำลังพิจารณา ซึ่งเป็นหนึ่งในกฎหมายปฏิรูป อีกทั้งวันที่ 1 พ.ย. ก็จะมีการเปิดสมัยประชุมสภาแล้วพร้อมยืนยันว่า ศบค.จะยังคงปฎิบัติหน้าที่ต่อเนื่องตามบทเฉพาะกาลของ พระราชบัญญัติโรคติดต่อ ที่คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังดำเนินการเอาไว้อยู่

นอกจากนี้ นายวิษณุ ยืนยันว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ไม่ได้พิจารณาเรื่องวันหยุดเพิ่มเติม เนื่องจากยังคงต้องการให้ประชาชนลดการเดินทาง แต่วันหยุดที่ 24 กันยายน ที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ ยังคงให้วันหยุดไว้ไม่มีการยกเลิก

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube