นายกฯร่วมประชุมGMSเร่งยกระดับความร่วมมือ
นายกฯ ร่วมประชุมGMS ครั้งที่ 7 เร่งยกระดับความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อน GMS สู่ “การบูรณาการ รุ่งเรือง ยั่งยืน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมประชุมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 7 (The 7th Greater Mekong Subregion Summit) ซึ่งราชอาณาจักรกัมพูชาร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ผ่านระบบวีดิทัศน์แบบถ่ายทอดสด ภายใต้หัวข้อหลัก“GMS: พลิกฟื้นความแข็งแกร่งเพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายในทศวรรษใหม่” (GMS: Renewed Strength to Face the Challenges of the New Decade)โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกฯ และองค์การระหว่างประเทศร่วมกล่าวถ้อยแถลงด้วย ดังนี้ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย
นายกรัฐมนตรี ยินดีที่ได้เข้าร่วมการประชุมฯ พร้อมทั้งชื่นชมความพยายามของประเทศสมาชิกในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเต็มความสามารถผ่านการผสานความร่วมมือของทุกภาคส่วนอย่างเข้มแข็ง เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูอย่างรอบด้านและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับประชาชนใน GMS โดยการประชุมฯในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ร่วมกันทบทวนการดำเนินงานในระยะที่ผ่านมา และแสวงหาความร่วมมือที่สร้างสรรค์ โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นควรร่วมกันยกระดับความร่วมมือเพื่อสานต่อความสำเร็จของ 3C ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของแผนงานความร่วมมือ GMS ดังนี้
1) Connectivity เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมอย่างไร้รอยต่อทั้งภายในอนุภูมิภาคและสู่ภูมิภาคอื่น ๆ ซึ่งไทยกำลังพัฒนาโครงข่ายคมนาคมให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ รวมทั้งเชื่อมโยงระหว่างเมืองกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน พร้อมเร่งผลักดันการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (CBTA) สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเร่งหารือเพื่อผลักดันกฎระเบียบที่เป็นหนึ่งเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดนอย่างมีประสิทธิภาพ
2) Competitiveness มุ่งสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ภาคธุรกิจทุกระดับปรับตัว เพื่อให้อนุภูมิภาค GMS มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยไทยให้ความสำคัญกับการเยียวยาควบคู่ไปกับการสร้างศักยภาพของ MSMEs การส่งเสริม E-Commerce และมุ่งใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ
3) Community เร่งส่งเสริมอนุภูมิภาค GMS ให้เป็นประชาคมที่ครอบคลุม ยั่งยืน และมีอนาคตร่วมกัน โดยเฉพาะการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับอนุภูมิภาคจากโรคระบาดหรือโรคอุบัติใหม่ โดยไทยได้จัดทำแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564-2565
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ขอบคุณ ADB และหุ้นส่วนการพัฒนาอื่น ๆ ทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชน ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนา GMS มาโดยตลอด
พร้อมหวังว่าผลการประชุมในวันนี้จะนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและประสบความสำเร็จ เพื่อสร้าง “อนุภูมิภาค GMS ที่มีการบูรณาการ รุ่งเรืองยั่งยืน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”ในการประชุมฯ นี้ ผู้นำประเทศสมาชิกฯ ได้ร่วมกันรับรองเอกสารผลลัพธ์ 3 ฉบับ ประกอบด้วย (1) ร่างปฏิญญาร่วมระดับผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 7 (2) ร่างกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 และ(3) ร่างเอกสารแผนการฟื้นฟูและตอบสนองต่อผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พ.ศ. 2564-2566
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news