นายกฯกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมUNGA76
นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม UNGA76 เน้นย้ำความร่วมมือพหุภาคี พลิกวิกฤตเป็นโอกาส
วันนี้ (วันที่ 26 กันยายน 2564) เวลา 00.00 น. (ซึ่งตรงกับวันที่ 25 กันยายน 2564 เวลา 13.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของนครนิวยอร์ก) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไป (General Debate) ของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 76 ภายใต้หัวข้อ การสร้างความยืดหยุ่นผ่านความหวัง โดยการฟื้นฟูจากโควิด-19 การสร้างอย่างยั่งยืน ตอบรับความต้องการของโลก เคารพสิทธิของผู้คน และการฟื้นฟูของสหประชาชาติ ที่ ประชาคมโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีแนวโน้มจะอยู่กับเราไปอีกนาน ความสามารถที่จะเรียนรู้สู่บริบท “Next Normal” รวมถึงภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกภูมิภาค และประการสำคัญ คือ การชะงักงันในการเร่งขับเคลื่อน SDGs ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชากรโลกในวงกว้าง
การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า จะไม่มีใครปลอดภัย หากทุกคนยังไม่ปลอดภัย ประชาคมโลกจึงต้องเร่งผลักดันให้วัคซีนและยารักษาโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะของโลก รวมถึงความร่วมมือด้านการพัฒนาวัคซีน ยา และเวชภัณฑ์ที่จำเป็น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต นอกจากนี้ ทุกประเทศต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะการบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้ WHO เสริมสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพโลกรวมถึงการหารือเพื่อพิจารณาจัดทำ Pandemic Treaty ในส่วนของไทยได้พยายามส่งเสริมการผนวกรวมมิติด้านสาธารณสุขในเรื่องการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครอบคลุมทั้งภัยธรรมชาติและโรคอุบัติใหม่ เชิญชวนให้มีการใช้ประโยชน์จากหลักการกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นแนวทางด้านสาธารณสุขตามกรอบเซนไดฯ สิ่งสำคัญ คือ การสร้างระบบสาธารณสุขของโลกที่มีภูมิต้านทาน เท่าเทียม และเป็นธรรม ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการฟื้นตัวที่ยั่งยืนต่อไป
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความสงบสุขและเสถียรภาพเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ประชาคมระหว่างประเทศจึงต้องร่วมกันสร้างสภาวะแวดล้อมแห่งสันติภาพ ที่ผ่านมา ไทยพยายามมีบทบาทที่ต่อเนื่อง และไทยยังได้บริจาคเงิน จำนวน 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนหน่วยงานของ UN ในการดำเนินงานเพื่อบรรเทาวิกฤตด้านมนุษยธรรมในอัฟกานิสถาน นอกจากนี้ การมีผลใช้บังคับของสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประชาคมโลกในการส่งเสริมให้ประชาชนรุ่นหลังปลอดภัยจากอาวุธนิวเคลียร์ แม้ในห้วงที่มีความตึงเครียดระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ไทยยังส่งเสริมการเชื่อมโยงความร่วมมือในกรอบ TPNW กับสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ด้วย
สำหรับประเด็นเมียนมา ไทยได้ติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด และยืนยันที่จะส่งเสริมการใช้การทูตพหุภาคี เพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมแห่งสันติภาพและความสมานฉันท์ในเมียนมา และส่งเสริมการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ ของที่ประชุมผู้นำอาเซียน ควบคู่กับความร่วมมือด้านสาธารณสุขและความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม
พร้อมกล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ยังคงมีความท้าทายสูงเหมือนเช่นหลาย ๆ ประเทศ? แต่เชื่อมั่นว่าการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนมีความสำคัญ โดยเฉพาะการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะช่วยรับมือกับความท้าทายด้านสุขภาพและโรคอุบัติใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ไทยได้นำพลังของอาสาสมัครในท้องถิ่นและความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่น มาปรับใช้ในการรับมือกับโควิด-19 โดยใช้สารสกัดจากฟ้าทะลายโจรซึ่งเป็นสมุนไพรพื้นบ้านของไทย มาเป็นยารักษาและบรรเทาอาการของโควิด-19
นอกจากนี้ ในโอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปี 2565 ไทยจะผลักดันเป้าหมายหลัก 3 ประการ ได้แก่ การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน การฟื้นฟูความเชื่อมโยง และการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งประเด็นสำคัญเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของไทยในการส่งเสริมความร่วมมือในกรอบพหุภาคีที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุลหลังโควิด-19 โดยหวังว่าจะสามารถให้การต้อนรับโลกสู่ไทยภายใต้บริบทของความเปลี่ยนแปลงตลอดกาล
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news