“วิษณุ” เผย นายกฯยังไม่ยื่นทูลเกล้าฯรธน.
“วิษณุ” เผย นายกฯยังไม่ยื่นทูลเกล้าฯรธน. ระบุไม่มีอำนาจยื่นตีความ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการยื่นทูลเกล้าฯร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถึงมือนายกรัฐมนตรีแล้วตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย. ว่า กรอบเวลาการยื่นทูลเกล้าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 145 เมื่อรัฐสภาส่งมาถึงมือนายกรัฐมนตรีต้องเก็บไว้ 5 วัน เมื่อครบให้บวกไปอีก 20 วันจะทูลเกล้าฯเมื่อใดก็ได้ใน 20 วันนี้ ส่วนระยะเวลา 20 วันนี้ นายกรัฐมนตรีสามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ นายวิษณุ ระบุว่า ถ้านายกรัฐมนตรีจะยื่นต้องยื่นตามมาตรา 148 จะเห็นว่าผู้ที่จะยื่นได้คือ ส.ส. กับนายกรัฐมนตรี แต่เป็นการใช้กับ พ.ร.บ. ไม่ได้ใช้กับรัฐธรรมนูญ ส่วนตอนนี้นายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจยื่นตีความได้แล้วใช่หรือไม่ นายวิษณุ ระบุว่า ตนตอบแค่นี้ เพราะมาตรา 148 ใช้กับ พ.ร.บ.
ส่วนกรณี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี ยื่นตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน จะกระทบกับการยื่นทูลเกล้าของนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายวิษณุ ระบุว่า ไม่กระทบ การยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่เกี่ยวกับการกำหนดเวลาเป็นกฎหมายแล้วก็ยังยื่นได้ อยู่ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะรับหรือไม่ ซึ่งถือเป็นคนละส่วนกัน
หากมีการทูลเกล้าฯร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้ว หากเกิน 90 วันยังไม่มีการโปรดเกล้าฯร่างดังกล่าวจะตกไปเลยใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตกตามรัฐธรรมนูญมาตรา 147 แต่ไม่เชิงตกเพราะมีช่องให้สภายืนยันอีกครั้งภายใน 30 วัน ส่วนในหลวงสามารถคัดค้านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าทรงมีพระราชอำนาจในการวีโต้ พ.ร.บ.ใน 90 วัน ซึ่งเคยเกิดสมัยรัชกาลที่ 7 และที่ 9 ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็เคยวีโต้พ.ร.บ. 3 ฉบับ หากดูจากไทน์ไลน์ต่อจากนี้ไม่น่าจะมีอะไรสะดุดใช่หรือไม่ ทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญและกติกาเลือกตั้ง นายวิษณุ กล่าวว่า มันจะสะดุดเรื่องเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ แต่เวลานี้ยังไม่มีการยื่น
ส่วนระหว่างนี้หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองจำเป็นต้องมีการเลือกตั้งจะต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับใด นายวิษณุ ระบุว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตามรัฐธรรมนูญระบุเอาไว้แล้วในมาตรา 147 หากร่างพ.ร.บ. หรือร่างรัฐธรรมนูญใดที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาต้องตกไป แต่ถ้าได้รับความเห็นชอบแล้วไม่ตก เว้นแต่จะไม่โปรดเกล้าลงมาภายใน 90 วัน เพราะฉนั้นไม่ว่ารัฐบาลออกหรือยุบสภาหรือไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้ารัฐธรรมนูญนั้นประกาศใช้ต้องเดินต่อไป แต่ตนไม่กล้าบอกว่าถ้ายุบสภาตอนนี้แล้วใช้รัฐธรรมนูญใหม่เพราะยังไม่ได้โปรดเกล้าฯลงมา ถามว่ายังต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯหรือไม่ ยังต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ และยังทรงมีเวลา 90 วัน ถ้าโปรดเกล้าลงมา ตนจึงเคยบอกว่าจะยุ่งหากเกิดเหตุการยุบสภาในตอนนี้ เนื่องจากขณะที่ยุบสภาเรายังนึกว่ามี ส.ส.เขต 350 ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 กกต.ก็ต้องเตรียมการอย่างนี้เพราะยังไม่ได้ใช้รัฐธรรมนูญใหม่ แล้วพรรคการเมืองก็เตรียมการแบบนี้แล้ว จู่ๆเกิดมีการโปรดเกล้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ลงมาทุกอย่างต้องเปลี่ยนหมดจะไม่เปลี่ยนก็ไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญใหม่มีผลแล้วมันถึงจะยุ่ง ส่วนหากมีการยุบสภาก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะประกาศใช้ นายวิษณุ ระบุว่า ไม่มีปัญหาก็จบเรื่องใช้กติกาเดิม บัตร 1 ใบ ส.ส. 350 กับ 150 ถ้าเลือกตั้งเสร็จวันนี้ พรุ่งนี้โปรดเกล้า ส.ส.ก็เป็นแบบเดิม จนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่จึงจะใช้กติกาใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญจะมีผลกับการเลือกตั้งครั้งใหม่เท่านั้น
“วิษณุ” เผย พ.ร.ก.โรคติดต่อฯ ยังไม่ได้ทูลเกล้าฯ เพราะไม่ใช่เรื่องรีบร้อน
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี โดยให้ความเห็นเกี่ยวกับถึงร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ว่าขณะนี้ยังไม่ได้ทูลเกล้าฯ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเอาเป็นพ.ร.บ.หรือไม่ เพราะหากเสนอเป็น พ.ร.บ.ก็ต้องรอให้สภาเปิด และเสนอเข้าเป็นพ.ร.บ.ปฏิรูปเข้าสองสภาพิจารณาร่วมกัน
ส่วนไม่ได้รีบร้อนอะไรใช่หรือไม่ นายวิษณุ ระบุว่า รีบเหมือนกัน แต่ขณะนี้ไม่มีประชุมสภา และอีกประการถ้าออกเป็น พ.ร.ก.เร็วไป ในรัฐธรรมนูญระบุว่า การออก พ.ร.ก.หากอยู่ในระหว่างปิดสมัยประชุมให้เรียกประชุมสมัยวิสามัญ ดังนั้นจึงไม่ต้องรีบอะไร
“วิษณุ” ปัดตอบสูตรนับเวลานายกฯ โต้ “หมอชลน่าน” ยันไม่เคยพูดเรื่องนี้ ชี้เร็วสุดยื่นศาล ยังมีเวลาอีก 11 เดือน
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงข้อสังเกตการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ว่า ตนขอไม่ตอบ และไม่เคยพูดกับใครที่ไหนมาก่อน และที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยระบุอ้างว่าตนพูดนั้น ยืนยันว่าตนไม่เคยพูดกับใคร ไม่เคยพูดเรื่องนี้ และไม่รู้ว่าจะพูดทำไมเวลานี้ ใครมาถามก็ไม่เคยตอบ และที่บอกว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบหมายให้ชี้แจง ตนยังไม่ได้รับมอบหมาย แต่คงเตรียมจะมอบหมาย
ส่วนจะนับเวลาดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี เมื่อใดนั้น นายวิษณุ ระบุว่า ขอตอบว่าไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงมาสงสัยกันในช่วงนี้ ซึ่งสูตรวิธีคิดมีด้วยกัน 3 ทาง คือ นับจากปี57, นับจากปี60 และนับจากปี62 ไม่ว่าสูตรใด หากนับจากปี57 เร็วที่สุดจะครบในเดือนส.ค.65 ซึ่งนับจากวันนี้ยังมีเวลาอีก 11 เดือน เหตุใดมาพูดตอนนี้ แค่คิดจะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความก็ส่งไม่ได้ ซึ่งใครก็ส่งไม่ได้ เพราะศาลจะถามกลับทันที และก่อนหน้านี้ศาลเคยตัดสินมาหลายเรื่องว่าศาลไม่ใช่กฤษฎีกา ไม่ใช่ที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล และเวลานี้เรื่องยังไม่มี เมื่อไปถึงจังหวะเวลาหนึ่งก็สามารถทำได้แต่ไม่ใช่เวลานี้ สมมุติว่ามีการยุบสภา จะต้องหานายกฯ เราไม่ต้องรอจนได้นายกฯ เวลานั้นให้สงสัยได้ ให้รอเวลาใกล้กว่านี้ แต่ยังเหลืออีก 11 เดือน ทั้งนี้เรื่องนี้ไม่ได้วิตก ไม่ได้กังวล
ส่วนกรณีที่นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสนอใช้ช่องทางรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรค3 โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เป็นผู้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ นายวิษณุ ระบุว่า ตนไม่ทราบ ต้องไปถาม กกต. ที่นายจรัญเป็นห่วงเพราะศาลอาจใช้เวลาพิจารณาหลายเดือน ถ้าเวลานั้นครบ 8 ปีแล้วไปยื่นจะทำกันอย่างไร
เพราะปัญหาจะเกิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ที่ให้อำนาจ กกต.รวมทั้ง ส.ส.หรือ ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีของแต่ละสภาก็สามารถเข้าชื่อยื่นตีความได้ หากยื่นไปแล้วศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ นายกรัฐมนตรีก็ต้องหยุด แต่ ครม.ยังสามารถปฎิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่หากศาลตัดสินว่าดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีไปแล้ว และย้อนไปมีผลนับตั้งแต่ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ครม. ที่ปฎิบัติหน้าที่จะทำอย่างไร เพราะเมื่อนายกฯพ้น ครม.ก็ต้องพ้นไปด้วย ซึ่งมาตรานี้เป็นมาตราเดียวที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีกับครม. แยกกัน เพราะปกติไม่ว่าอะไรจะเกิดกับนายกรัฐมนตรี ครม.ก็ต้องไปทั้งหมด แต่กรณีนี้ถ้าศาลสั่งให้นายกฯหยุด ครม.ไม่ต้องหยุด หากศาลสั่งให้นายกฯพ้นจากตำแหน่งในวันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที สิ่งที่ครม.ปฎิบัติมาทั้งหมดก็ใช้ไม่ได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news