“อนุทิน” เร่งแก้ปัญหาโควิด ชายแดนใต้ ตั้งเป้า เดือนตุลาฯ จังหวัดปลายขวานต้องได้วัคซีน 70% พร้อมสั่งเตรียมพร้อมจังหวัดรอบข้างช่วยดูแลสถานการณ์
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหารฯ เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา พร้อมส่งมอบวัคซีนไฟเซอร์
นายอนุทิน กล่าวว่า สถานการณ์โควิดช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จังหวัดภาคใต้ตัวเลขผู้ติดเชื้อต่อเนื่องประมาณวันละ 2 พันราย โดยเฉพาะ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ส่วนเรื่องการฉีดวัคซีน ได้รับรายงานจากกรมควบคุมโรคแล้วว่าในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้วัคซีนถึง 50% ของประชากรแล้ว แต่เป้าของเราคือ 70% ซึ่งคาดว่า จะทำได้ตามเป้าในเดือนตุลาฯ โดยขาดวัคซีนประมาณ 1 ล้านโดส ซึ่งในสัปดาห์นี้ จะลงมา 4 แสนโดส และจะลงมาเพิ่มอีก 6 แสนโดส เมื่อลงมาแล้วก็ต้องลุยฉีด นอกจากเรื่องวัคซีน ก็ต้องทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ โดยให้กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต รพ.สต. ไปทำความเข้าใจเรื่องมาตรการนิวนอร์มอล เชื่อว่า ทุกอย่างจะดีขึ้น
ทั้งนี้ นายอนุทิน ได้ มอบหมายให้ นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 12 ดำเนินการควบคุมโรคในพื้นที่ โดยใช้มาตรการ 4 ด้าน ได้แก่
1.DMHTT และ Universal Prevention เพื่อให้ประชาชนตระหนักอยู่เสมอว่าทุกคนมีความเสี่ยงทุกเมื่อ เราจึงต้องป้องกันตัวเองอย่างสูงสุดอยู่ตลอดเวลา ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างและล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์
2.มาตรการวัคซีนโควิด ขณะนี้ได้สนับสนุนวัคซีนไฟเซอร์ เพื่อมาควบคุมการระบาด 3 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์อัลฟ่า เบต้าและเดลต้า โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องฉีดให้ครอบคลุมประชากร 70% ภายในเดือนต.ค.นี้ ซึ่งสูงกว่าระดับประเทศที่ตั้งไว้ 50% รวมถึงการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเด็กนักเรียนด้วย
3.มาตรการ Covid Free Settings ด้วยการกำหนดพื้นที่ปลอดโควิด-19 และให้ประชาชนที่เข้าใช้บริการพื้นที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม หรือ สถานที่ต่างๆ ได้รับการตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท(ATK) ก่อนเข้าใช้บริการ รวมถึงสถานประกอบการ จะต้องนำพนักงานไปฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน ตรวจ ATK ทุก 3 หรือ 7 วันตามความเหมาะสม ขณะที่พื้นที่ท่องเที่ยว ประชาชนในพื้นที่จะต้องฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 80%
4.การตรวจเชิงรุกในชุมชน ด้วยชุดตรวจ ATK เนื่องจากเราตรวจมากก็จะพบมาก ซึ่งจะเหมือนกับช่วงเดือนส.ค. ที่เกิดระบาดในกรุงเทพฯ ทำให้เราตรวจจับ และแยกผู้ติดเชื้อออกมาได้เร็ว
เพื่อตัดวงจรระบาด และ ในการรองรับสถานการณ์พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทาง สธ.ได้ประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ทำศูนย์พักคอยในชุมชน(Community Isolation) มากขึ้น มีอย่างน้อยตำบลละ 1 แห่ง เพื่อแยกกักผู้ติดเชื้อให้เข้าสู่ระบบการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news