Home
|
ข่าว

“จุรินทร์” ดันแก้กฎหมายเลือกตั้ง ชี้ ไทม์ไลน์ 180 วัน เร่งคุยกฎหมายแรงงานต่างด้าว

Featured Image
“จุรินทร์” ดันแก้กฎหมายเลือกตั้ง ชี้ ไทม์ไลน์ 180 วัน ยึดหลักความเป็นจริง เผย ปชป. เตรียมเสนอร่างหลัง รธน.บังคับใช้ กำชับ ส.ส. ยกมือโหวต กม.

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีส่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัติย์ กล่าวถึงการแก้กฎหมายเลือกตั้ง ที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีระบุกรอบไว้ 180 วัน ว่า ต้องยึดตามหลักความเป็นจริง เพราะ รัฐธรรมนูญกำหนดให้การเสนอกฎหมาย ทั้งกฎหมายเลือกตั้ง หรือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เสนอได้ 2 ทาง คือ คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ หรือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เสนอ โดยร่างที่คณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้เสนอเริ่มนับหนึ่งที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เป็นผู้ยกร่าง และนำเข้าสู่ ครม. ส่วนของ ส.ส.นั้นพรรคประชาธิปัตย์ได้มีการยกร่างแล้ว และจะนำเสนอหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้

ทั้งนี้มีประเด็นหลักที่สำคัญ เช่น ระบบการคัดเลือกผู้สมัครขั้นต้น หรือ ไพรมารีโหวต ที่ทำให้ขบวนการยาว โดยไม่ตอบสนอง ให้พรรคการเมืองเข้มแข็งขึ้น รวมถึงการบังคับว่าเขตเลือกตั้งไหนจะส่งผู้สมัคร ต้องมีตัวแทนจังหวัด ซึ่งมองว่าเกินความจำเป็น เพราะกรรมการบริหารพรรคสามารถพิจารณาได้อยู่แล้วว่าเขตไหนจะส่งหรือไม่อย่างไร เพราะหลายพรรคการเมืองมีสาขาพรรคกระจายอยู่ทุกภาคทั่วประเทศ รวมถึงประเด็นที่มีการกำหนดว่าใครจะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองต้องเสียค่าสมาชิก ซึ่งมองว่า เป็นการสร้างภาระให้กับผู้ที่อยากเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองโดยไม่จำเป็น ดังนั้นจึงควรปลดล็อกเพื่อสนับสนุนให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง ตามระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะหากพรรคการเมืองไม่เข้มแข็งสุดท้ายประชาธิปไตยก็ไม่เกิด

ส่วนหลายพรรคการเมืองใหญ่ ที่เห็นพ้องในทิศทางเดียวกันนั้น เบื้องต้นก็มีการพูดคุย เมื่อถึงเวลาจะต้องหารือกันใน คณะกรรมการประสานงาน หรือ วิปพรรค ไม่เฉพาะพรรคร่วมรัฐบาล แต่รวมถึงพรรคฝ่ายค้านและ วิปวุฒิสภาด้วย

ส่วนการเปิดประชุมสภาในวันที่ 1 พ.ย.นี้ จะมีกฎหมายเข้าที่ประชุมหลายฉบับ พรรคประชาธิปัตย์ มีความชัดเจนในการทำหน้าที่ในรัฐสภา เพราะผู้แทนราษฏรมีความรับผิดชอบ และพรรคก็กำชับตลอดว่า นอกจากการเน้นย้ำเรื่องการลงพื้นที่การทำหน้าที่ผู้แทนในสภาถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ส่วนการพิจารณาตัดสินใจนั้น ให้วิป รัฐบาลเป็นผู้พิจารณา ก่อนนำเข้าสู่มติพรรคต่อไป แต่ที่สำคัญที่ต้องให้การสนับสนุนคือกฎหมายที่พรรครัฐบาลเป็นผู้เสนอ ไม่เช่นนั้นจะกระทบเสถียรภาพทางการเมืองสนับสนุนกฎหมายที่พรรคเป็นผู้เสนอ รวมถึงกฎหมายที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศ และประชาชน

ทั้งนี้นายจุรินทร์ กล่าวถึง การเตรียมอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ว่า เป็นขั้นตอนตามระบบประชาธิปไตยที่สามารถทำได้ซึ่งตนก็สนับสนุนให้มีการตรวจสอบ อะไรที่ยังไม่เข้าใจ ก็จะเป็นช่องทางที่รัฐบาลได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน

“จุรินทร์” พบปะสมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี พูดคุย 5 ประเด็น มอบหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายกับแรงงานต่างด้าวทำธุรกิจในไทย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต., นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์, นายนิพันธ์ บุญหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี, หอการค้าจังหวัดปัตตานี และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี พบปะสมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี ณ สมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี ถนนนาเกลือ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

โดยนายจุรินทร์ กล่าวว่า มีข้อสรุป 5 ประเด็น คือ การจ่ายเงินชดเชยซื้อเรือประมงพาณิชย์ ที่ดำเนินการค้างคาหลายปี เกี่ยวข้องกับการนำมาตรการ IUU มาบังคับใช้ในประเทศ มีเรือที่จังหวัดปัตตานีที่จำเป็นเข้าไปจ่ายเงินเยียวยาทั้งสิ้น 423 ลำ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบ่งออกเป็นส่วนแรก จำนวน 101 ลำ จะเร่งรัดดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้ก่อน มีวงเงินขอดำเนินการ 245 ล้านบาท และจะมีการเร่งรัดนำเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต. ในวันที่ 28 ต.ค.นี้ ตนมอบหมายให้นายนิพนธ์ ซึ่งเป็นกรรมการให้การสนับสนุน

การแก้ไขพระราชกำหนดการประมงปี 58 ซึ่งผู้ประกอบอาชีพประมงปัตตานีและชายแดนใต้ หรือทั่วประเทศ ต้องการเห็นการเร่งรัดดำเนินการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้โดยเร็ว เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้การประกอบอาชีพประมงเดินหน้าต่อไปได้ ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์มีการยื่นแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้วแต่การพิจารณากฎหมายใหม่ จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญมาตรา 77 รับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งอยู่ขั้นตอนนี้ ตนฝากสมาคมฯช่วยให้ความเห็นสนับสนุนต่อไปด้วย เพื่อจะได้นำเข้าสู่การพิจารณาของสภาต่อไป

ต้องการให้ผู้ประกอบอาชีพประมงพาณิชย์ หลังจากขายเรือหรือจำเป็นต้องเลิกอาชีพประมงพาณิชย์ไปแล้วให้สามารถมีทางเลือกในการประกอบอาชีพอื่น ซึ่งมีอยู่จำนวน 12 รายการ ที่ต้องการไปทำอาชีพเกษตรกรรมด้านอื่น แต่จำเป็นต้องมีที่ดินทำกิน จึงขอที่ดินทำกินไปยังนิคมสร้างตนเองจังหวัดยะลา ซึ่งเรื่องนี้จะให้ ศอ.บต.ช่วยทำต้นเรื่องไปยังกรมพัฒนาสังคมของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อช่วยพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป เพราะกระทรวงฯ มีนิคมสร้างตนเองที่จังหวัดยะลาและมีที่ดินทำกินอยู่จำนวนหนึ่งที่อาจพิจารณาจัดสรรให้ได้

ผู้ค้าสัตว์น้ำหรือสินค้าประมงที่แผงค้า ของตลาดองค์การสะพานปลาตัวเมืองปัตตานีร้ องเรียนว่ามีการปรับเปลี่ยน สิทธิการให้เช่าและปรับเปลี่ยนขนาดของแผงค้าให้เล็กลง ทำให้ผู้เช่าขาดพื้นที่ที่จะเก็บรักษาสินค้าประมงที่จะต้องดองน้ำแข็งไว้ขายในวันต่อไป และถ้าไปไว้ที่อื่นจะยุ่งยากมาก ตนได้ขอให้ผู้อำนวยการองค์การสะพานปลาลงมาแก้ปัญหาเรื่องนี้ร่วมกับทางจังหวัดและผู้ค้าด้วยตนเอง คาดว่าจะใช้เวลาไม่นานและผลเป็นอย่างไรให้รายงานให้ตนทราบต่อไป องค์การสะพานปลาในฐานะรัฐวิสาหกิจและดูแลให้ผู้ค้าที่แผงค้าได้รับความเป็นธรรมต่อไปด้วยในการประกอบอาชีพ

ทั้งนี้ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวซึ่งมีสิทธิ แค่เข้ามาทำงานในประเทศไทย แต่กลับมาทำธุรกิจและเป็นเจ้าของธุรกิจเองเท่ากับเป็นการแย่งอาชีพคนไทยและผู้ประกอบการในท้องถิ่น ซึ่งผิดพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 100,00-1,000,000 บาท และถ้ายังไม่เลิกการกระทำมีค่าปรับอีกวันละ 10,000- 50,000 บาท ซึ่งตนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือและบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัดต่อไป

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube